STARK อวดไตรมาส 1/65 กำไร 569 ล้านบาท โต 30%

HoonSmart.com>>STARK โชว์ไตรมาส 1/65 กำไร 569.79 ล้านบาท โต 131.72 ล้านบาท หรือ 30% รายได้รวม 6,176 ล้านบาท โต 32.6% จากยอดขายเพิ่มขึ้น จากโครงการภาครัฐ-เอกชน ก่อสร้างตามแผนและกำหนดการ 

บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น  (STARK ) รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 สิ้นสุด 31 มี.ค. 2565 กำไรสุทธิ 569.79 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.047 บาท เพิ่มขึ้น 131.72 ล้านบาท คิดเป็น 30% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน กำไรสุทธิ 438.07 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.036 บาท

บริษัทฯ ชี้แจง กำไรที่ปรับตัวขึ้น เนื่องจาก มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากยอดขายที่ปรับตัวสูงขึ้น จากโครงการภาครัฐและเอกชน ที่ดำเนินการก่อสร้างอย่างต่อเนื่องตามแผนงานและกำหนดการ  ส่งผลให้รายได้หลักไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เท่ากับ 6,176 ล้านบาท หรือเติบโต 32.66 % จาก 4,655 ล้านบาท ใน Q/64

นอกจากนี้ การมุ่งเน้นกลุ่มสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูง (High margin product) โดยเฉพาะกลุ่มสายไฟแรงดันระดับกลางจนถึงระดับสูงพิเศษ (Medium – Extra High Voltage) ที่มีการเติบโตสูงเพื่อรองรับโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้กำไรสุทธิของ บริษัทฯ ใน Q1/65  เท่ากับ 582 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.9% จาก 441 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 โดยอัตราส่วนกำไรสุทธิ Q1/65 เท่ากับ 9.4% ลดลงเล็กน้อยจาก 9.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

หากพิจารณากำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ Q1/65 เท่ากับ 570 ล้านบาท และปี 2564 เท่ากับ 438 ล้านบาท โดยอัตราส่วนกำไรสุทธิดังกล่าวในปี 2565 เท่ากับ 9.3% ลดลงจาก 9.4% จากงวดเดียวกันปีก่อน

นอกจากนี้ ผลประกอบการที่สูงขึ้น มาจากพลังร่วมทางธุรกิจ (Business synergies) ภายหลังเข้าลงทุนในประเทศเวียดนาม เช่น การรวมคำสั่งซื้อวัตถุดิบ การแลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิคในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีต้นทุนที่ลดลงและมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการลดอัตราการสูญเสียในกระบวนการผลิต (Scrap rate) เป็นต้น

ขณะที่ราคาทองแดง  (LME Copper) ปรับขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ยเดือนมี.ค. 2565 ประมาณ 10,000 USD per ton เพิ่มขึ้นจากช่วงราคาประมาณ 9,700 USD per ton ในเดือนม.ค. 2565 คาดการณ์ว่า ราคาทองแดงจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากอุปสงค์ (Demand) ในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและรถยนต์ไฟฟ้าที่ปรับตัว สูงขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ติดตามสถานการณ์ปัจจุบันของตลาดทองแดงอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ราคาทองแดงมีผลกระทบต่อมาร์จิ้นของบริษัทฯ ซึ่งช่วงไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากการ ปรับตัวของราคาวัตถุดิบหลัก เนื่องจากบริษัทฯ มีนโยบายการบริหารแบบ Pass-through หรือ Cost-plus strategy ซึ่งคำสั่งซื้อส่วนใหญ่ จะกำหนดราคาวัตถุดิบและจำนวนที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น ตามนโยบายการจัดซื้อ ไม่ให้มีการเก็งกำไรราคาวัตถุดิบ ( No speculation)