โบรกฯ ส่องหุ้นพ.ค.แกว่ง 1,600-1,700 รอช้อน ไม่ถึงขั้นหนีตาย

HoonSmart.com>> โบรกเกอร์ส่องทิศทางตลาดหุ้นเดือนพ.ค.เทน้ำหนักปรับฐาน-หวั่นเกิด”Sell in May” จาก 3 ปัจจัยใหญ่ เฟดพลิกล็อก- สงครามยืดเยื้อถ่วงเศรษฐกิจโลก-จีนล็อกดาวน์ ฟันธงไม่แย่ถึงขั้นหนีตาย ร่วงก็มีแรงซื้อ จับตานักวิเคราะห์ปรับเป้ากำไรบจ. ให้กรอบ  1,600-1,700 จุด เชียร์หุ้นที่ได้ดีเงินบาทอ่อน -เปิดประเทศ-Defensive-บอนด์ยีลด์สูง-ดอกเบี้ยขาขึ้น-งบฯดี ยก GFPT, EPG, BE8, PTG, M, MBK, AH, CWT,แบงก์ 

ในเดือนเม.ย. 2565 ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงเพียง 27.8 จุด คิดเป็นประมาณ 1.64% ดัชนีปิดที่ระดับ 1,667.44 จุด ไม่ปักหัวลงแรงตามตลาดหุ้นสหรัฐทั้งสามแห่ง ส่วนแนวโน้มในเดือนพ.ค. นี้นักวิเคราะห์ฟันธงลงแน่ๆ แต่ก็เป็นโอกาสในการสร้างกำไร โดยนายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า นักลงทุนจะกลัว “Sell in May” ซึ่งตามสถิติย้อนหลัง 10 ปีของเดือนพ.ค.ตลาดฯจะปรับตัวลง 6 ครั้ง แต่ในช่วงปีหลัง ๆ ซึ่งมีสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ตลาดไม่ได้เกิด Sell in May ดังนั้นจึงมองว่าทิศทางในเดือนพ.ค.น่าจะอยู่ในลักษณะผันผวน ตลาดย่อตัวลงก็จะมีแรงซื้อเข้ามา ไม่ถึงขนาดหนีตาย

ตลาดในเดือนพ.ค.ปีนี้มีความกังวลเกี่ยวกับผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นหลัก ซึ่งจะต้องจับตามุมมองของเฟดจะสร้างความกังวลเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ หากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่เกิน 0.5% อย่างที่คาดไว้ ก็น่าจะมีแรงซื้อกลับ แต่ถ้าใส่ความเสี่ยง เช่น มองเงินเฟ้อปรับลงได้ยากมาก ตลาดก็จะกลัว และอาจดึงให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นแรง หรือ การปรับลดขนาดงบดุลเร็วกว่าคาด รอบนี้เฟดยังไม่ประกาศกรอบเวลา (Timeline) ว่าจะปรับลดขนาดงบดุลเมื่อไร และจำนวนเท่าไรต่อเดือน จะมีเพียงสัญญาณจากการประชุมเฟดรอบที่แล้วว่าจะปรับลดขนาดงบดุล 9.5 หมื่นล้านเหรียญฯต่อเดือน หากเป็นระดับนี้ก็จะใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะทำให้งบดุลเข้าสู่ภาวะปกติ ถ้าเฟดทำในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปตลาดก็ไม่ตกใจ แต่ถ้าเฟดมีการปรับลดขนาดงบดุลมากกว่าที่เคยส่งสัญญาณนี้ก็จะทำให้ตลาดตกใจได้

ปัจจัยที่จะต้องติดตามในครึ่งแรกของเดือนพ.ค. คือการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ส่วนในครึ่งเดือนหลัง จะต้องติดตามการปรับประมาณการของนักวิเคราะห์ด้วย รวมถึงติดตามสถานการณ์การท่องเที่ยวจะดีขึ้นหรือไม่หลังปลดล็อก RT-PCR ไปแล้ว

สำหรับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครนเป็นปัจจัยที่ถ่วงเศรษฐกิจโลก โดยตัวเลข GDP งวดไตรมาส 1/65 ของสหรัฐฯออกมาติดลบ มองเห็นถึงโอกาสไตรมาส 2 ที่ GDP จะถอยลงได้ และอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ รวมทั้งให้ติดตามเงินเฟ้อดูว่าเมื่อไรจะถึงจุดสูงสุด(พีค)

นายวิจิตรแนะนำว่า ตลาดฯได้ตอบรับเรื่องเฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปมากพอควรแล้ว ดังนั้นจึงมองว่าตลาดฯย่อน่าจะหาจังหวะซื้อหุ้นกลับบ้าง ให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีฯในเดือนพ.ค.มีแนวรับ 1,650 จุด ถัดไปเป็นเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันที่ 1,630 จุด ซึ่งน่าจะรับอยู่ ส่วนแนวต้านให้ไว้ที่ 1,680-1,700 จุด

ธีมหุ้นที่น่าสนใจ คือมีแนวโน้มผลประกอบการออกมาดี, หุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า โดยแนะนำ”ซื้อ”หุ้น GFPT ราคาเป้าหมาย 16.30 บาท คาดไตรมาส 1/2565 จะมีกำไร 240 ล้านบาท พุ่งขึ้น 4 เท่าของกำไรในไตรมาส 1/2564 มาจากยอดขายไก่ และมาร์จิ้นดีขึ้น โดยรวมปี 2565 มอง GFPT จะ เทิร์นอะราวด์ และยังได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่าด้วย โดย GFPT มีการส่งออกไก่ไปญี่ปุ่น ให้มาร์จิ้นดี

หุ้น EPG ก็น่าสนใจ แม้มีความกลัวเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น แต่โมเมนตัมราคาขายยังดีจากการปรับขึ้นราคาขายได้ วอลุ่มดีทุกธุรกิจ อัตรากำไรขั้นต้นดี โดยไตรมาส 1 คาดว่าจะมีกำไร 405 ล้านบาท ยังคงสามารถรักษาฐานกำไรระดับ 400 ล้านบาทได้ ท่ามกลางต้นทุนที่สูงขึ้น จึงแนะนำ”ซื้อ”ราคาเป้าหมาย 15 บาท ราคาหุ้นได้ปรับตัวลงไปมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ หุ้น BE8 ก็น่าสนใจ ให้ราคาเป้าหมาย 10 บาท แนวโน้มกำไรไตรมาส 1 ทำ All time high และหุ้น PTG แนะนำ”ซื้อ”ราคาเป้าหมาย 17 บาท มองราคาหุ้นลงไปลึกมากแล้ว

ด้านนายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตอนนี้หลายคนต่างกลัวแรงขายในเดือนพ.ค. หรือ  “Sell in May” ทำให้มีแรงขายก่อนการประชุมเฟด ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 3-4 พ.ค.นี้ แต่หากผลการประชุมออกมาไม่มีอะไรน่ากังวล หุ้นก็ลงทุนได้

แนวโน้มตลาดครึ่งแรกของเดือนพ.ค. มีความเสี่ยงจากการประชุมเฟด ต่างรอดูการปรับลดขนาดงบดุล ถ้าออกมาไม่เกิน 9.5 หมื่นเล้านหรียญฯต่อเดือน ซึ่งเป็นระดับที่เฟดเคยส่งสัญญาณออกมา ก็ไม่ตกใจ อีกทั้งสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครนที่ยืดเยื้อ ถ้าไม่กดดันมากไปกว่าเดิม ตลาดฯก็น่าจะยอมรับได้ รวมถึงจีนมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นภาพรวมตลาดในเดือนพ.ค.คงจะแกว่งไซด์เวย์ในลักษณะปรับพอร์ตการลงทุนก่อน จากความกังวลเฟดจะปรับลดขนาดงบดุลเป็นหลัก  ให้กรอบการแกว่งดัชนีฯไว้ที่ 1,620-1,700 จุด

ทั้งนี้ หุ้นที่น่าสนใจลงทุน แนะนำกลุ่มเปิดเมือง, หุ้น Domestic plays อย่างเช่นหุ้น M และ MBK อีกทั้งแนะนำหุ้นในกลุ่ม EV Car ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐฯ แนะนำหุ้น AH, CWT รวมถึงกลุ่มธนาคาร ได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) อยู่ในระดับสูง โดยแนะนำหุ้น KBANK

นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.กรุงไทย ซีมิโก้ กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนในเดือนพ.ค.ยังให้น้ำหนักทางลงอยู่ จนกว่าจะมีการคลี่คลายหลายปัจจัยในต่างประเทศ อย่างสัญญาณจากเฟด จะไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และจีนเริ่มคลายล็อกดาวน์ รวมถึงเงินเฟ้อถึงจุดพีคหรือยัง ความไม่ชัดเจนเหล่านี้ทำให้ต้องระวังแรงขายหุ้นขนาดใหญ่เป็นผลมาจาก Fund Flow ไหลออก

นอกจากนี้ ปัจจัยในประเทศก็มีเรื่องการเมืองที่จะเริ่มมีการเปิดสภา และมีการประท้วงเกี่ยวกับราคาดีเซล รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากการปรับขึ้นราคาสินค้า
อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังสามารถเลือกหุ้นลงทุนได้จากหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า, หุ้นในกลุ่มท่องเที่ยว หุ้น  Defensive เช่น กลุ่มโรงพยาบาล และกลุ่มสื่อสาร (ICT) โดยมีแนวรับ 1,600-1,625 ถัดไป 1,640 จุด ส่วนแนวต้าน 1,680-1,700 จุด