EIC SCB เพิ่มเป้าส่งออกไทยปี 65 ขยายตัว 6.1% จาก 3.4%

HoonSmart.com>> EIC SCB ปรับคาดการณ์ส่งออกไทยปี 65 คาดขยายตัว 6.1% จากเดิม 3.4% ปัจจัยสนับสนุนจากราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเกี่ยวเนื่องกับพลังงานและแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าลง ด้านส่งออกเดือนมี.ค.สูงสุดเป็นประวัติการณ์ขยายตัวต่อเนื่อง 19.5% หากหักทองคำอาจเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัว

กลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) คาดการส่งออกไทยในปี 2565 ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดย EIC ปรับคาดการณ์มูลค่าส่งออกสินค้าไทยขยายตัวที่ 6.1% สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ 3.4% โดยถึงแม้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวจากผลกระทบของภาวะสงคราม ทำให้ปริมาณส่งออกไทยอาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในระยะข้างหน้า แต่ราคาสินค้าส่งออกของไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตามราคาสินค้าและโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะสินค้าพลังงาน จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกโภคภัณฑ์ที่สำคัญหลายชนิด

ประกอบกับแนวโน้มเงินบาทที่อาจอ่อนค่าในระยะสั้นจากแรงกดดันจากความต้องการถือสินทรัพย์เสี่ยงที่ลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้น และการขึ้นดอกเบี้ยของหลายเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลก จะสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของภาคส่งออกไทย ส่งผลให้ส่งออกขยายตัวสูงกว่าประมาณการเดิม

“EIC คาดเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ภาคส่งออกไทยจึงจะได้รับประโยชน์จากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ซึ่งจะแปรเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจส่งออกไทย อย่างไรก็ตาม คาดว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวในอัตราที่เร่งตัวกว่ามากที่ 13.2%”

สำหรับตัวเลขส่งออกไทยเดือนมี.ค.2565 ยังขยายตัวต่อเนื่องแต่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว ซึ่งการส่งออกเดือนมี.ค.มีมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลที่ 28,859.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 19.5% เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 16.2% และหากพิจารณาเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ (ปรับผลของฤดูกาล) การส่งออกจะขยายตัว 7.3% (MOM, SA)

อย่างไรก็ตาม เมื่อหักทองคำ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนภาวะการค้าที่แท้จริง) มูลค่าการส่งออกขยายตัวอยู่ที่ 9.5% ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 13.2% สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) และดัชนีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ (Export Orders) ที่ปรับลดลงต่ำที่สุดในรอบ 18 เดือน และ 20 เดือน ตามลำดับ สะท้อนทิศทางการชะลอตัวในภาคการผลิตและการค้าโลกในระยะข้างหน้า

สำหรับการส่งออกไทยในเดือนมี.ค.มีสินค้าส่งออกหนุนสำคัญนอกจากทองคำหลายสินค้า เช่น คอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ น้ำตาลทราย เป็นต้น และมีตลาดสำคัญที่ขยายตัวได้ดีคือ อาเซียน-5 อินเดีย และตะวันออกกลาง ในภาพรวมมูลค่าส่งออกไทยไตรมาสแรกของปีขยายตัว 14.9%

ด้านสงครามในยูเครนและนโยบายปิดเมืองของจีนเริ่มส่งผลกระทบต่อส่งออกไทย โดยส่งออกไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์รวมถึงปัญหาชะงักชะงันของอุปทานโลกจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยส่งออกไทยไปรัสเซียและยูเครน เดือนมีนาคมหดตัวถึง 73% และ 77.8% ตามลำดับ ประกอบกับการใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดของจีน ซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลก

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาผลกระทบต่อมูลค่าส่งออกไทยจะยังจำกัด แต่ EIC คาดว่าการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบมากขึ้นในระยะถัดไป สะท้อนจากข้อมูลการส่งออก 20 วันแรกของเดือนเม.ย.ของเกาหลีใต้ที่ยังทรงตัวและอาจมีแนวโน้มชะลอตัวลง หากจีนยังคงดำเนินมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดต่อไป และหลายอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดยุโรปสูงอาจได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมบางกลุ่มก็อาจได้รับอานิสงส์จากการส่งออกสินค้าเพื่อทดแทนสินค้าจากรัสเซียในตลาดยุโรปและอาจขยายส่วนแบ่งตลาดได้