HoonSmart.com>>”ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”มองเห็นโอกาส บนความท้าทายของการแข่งขันตลาดทุนโลก และพฤติกรรมนักลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป “ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย”ชี้ 4 โจทย์ใหญ่ท้าทาย หากรับมือและปรับตัวทัน ตลาดจะรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดทุนของอาเซียนได้ต่อไป “ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์” เสนอ 6 สิ่งที่อยากเห็น TDRI ยืนยันความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจและนักลงทุน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดเสวนา “SET ก้าวสู่ปีที่ 48 ขับเคลื่อนตลาดทุนแห่งอนาคต – Wealth Driver for Fruitful Growth” วันที่ 27 เม.ย.2565 โดยนาย ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย มองเห็น 4 โจทย์ใหญ่กับโอกาสและความท้าทายของตลาดทุนในอนาคต โจทย์แรก แหล่งระดมทุนสำหรับธุรกิจ New Economy และเทคสตาร์ทอัพ
“ในยุคไร้พรมแดน ตลาดหลักทรัพย์ไทย จะต้องพัฒนาต่อไปได้ จะต้องสร้างความแข็งแกรง พร้อมแค่ไหนที่จะสนับสนุนและแข่งขันกับตลาดอื่น เพราะตลาดหลายแห่ง มีการปรับตัวมาก เช่น ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน มีการปรับกระบวนการคิด หลังเจอปัญหาบริษัทถอนตัวออกจากตลาดถึง 400 บริษัท จึงตั้งกระดานใหม่ รองรับหุ้นเหล่านี้ ตลาดหุ้นสิงคโปร์ก็มีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ และเงื่อนไขการรับหุ้นเทค”
จากนี้ไปจะเห็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่เป็นเทคโนโลยีเข้ามาระดมทุนมากขึ้น มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจเหล่านี้ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
ดังนั้นความท้าทายของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการปรับปรุงหลักเกณฑ์ รวมถึงสร้างกระดานใหม่ การทำงานร่วมกันกับสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ รวมถึงการมีตราสารประเภทใหม่ๆ เพื่อรองรับธุรกิจเหล่านี้
โจทย์ที่สอง การส่งเสริมและออกกฎเกณฑ์รองรับธุรกิจ SMEs
ตลาดหลักทรัพย์ที่ผ่านมาขับเคลื่อนด้วยบริษัทขนาดใหญ่ จะทำให้อย่างไรให้ธุรกิจขนาดเล็กอย่าง SMEs เข้ามาระดมทุนได้ เพื่อเป็นทางเลือกที่ดี เพราะไม่ควรก่อหนี้เพิ่มขึ้นแล้ว การสนับสนุนและเปิดช่องทางการระดมทุนให้กับ SMEs จึงเป็นอีกโจทย์ใหญ่ของตลาดทุนที่จะต้องสร้างกฎเกณฑ์ให้เอื้อกับธุรกิจ SMEs ให้ได้
โจทย์ที่สาม ความท้าทายจากพฤติกรรมของนักลงทุน “สร้างความน่าสนใจใหม่ให้กับตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมหรือยัง?”
นักลงทุนเริ่มคุ้นเคยกับการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด -19 สินทรัพย์ในตลาดต่างประเทศได้รับความนิยมสูงมาก โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยี ขณะเดียวกันนโยบายคิวอี ใส่เงินเข้าระบบมาก ทำให้ตลาดหุ้นต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และสร้างผลตอบแทนที่สูง และเกิดการเรียนรู้การลงทุนในต่างประเทศ
โจทย์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือทำอย่างไรให้คนหันมามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยแทน โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ ที่จะลงทุนในบริษัทที่คุ้นเคย เช่น เทสล่า ไม่ชอบหุ้นเศรษฐกิจเก่า หากไม่ทำอะไรเลย ตลาดจะสูญเสียเงินในส่วนนี้ การสร้างตราสารต่างๆ ขึ้นมา อาจช่วยกักเก็บเงินให้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้
โจทย์ข้อสุดท้าย Digital Transformation
“ทางออกที่ดีที่สุด คือการออกโทเคน แต่คำถามคือ ตลาดไทยพร้อมแล้วหรือยัง?”
Digital Transformation อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สำหรับตลาดทุนนั้นเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน ดังนั้นโจทย์ที่ท้าทายข้อสุดท้าย คือ ทำอย่างไรถึงจะทรานส์ฟอร์มให้สามารถรองรับการระดมทุนในรูปแบบของดิจิทัลได้ เช่น การออกโทเคนพร้อมไหม และทำอย่างไรให้นักลงทุนรุ่นใหม่สามารถซื้อขายหุ้นได้ตามสัดส่วนตามจำนวนเงินที่มีอยู่ และสะดวกสบายเช่นเดียวกับการลงทุนในคริปโต ซึ่งจะช่วยดึงให้นักลงทุนรุ่นใหม่เข้าสู่สินทรัพย์ดั้งเดิมในรูปแบบของโทเคนที่เติบโตสูงเช่นเดียวกับคริปโตได้
ในอีก 5 ปีข้างหน้า หากตลาดหลักทรัพย์ไทยสามารถทำได้ทั้ง 4 โจทย์ใหญ่นี้ ก็มั่นใจได้ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดทุนของอาเซียนได้อย่างแน่นอน
นาย ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า พฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนที่เปลี่ยนไป ตลาดทุนก็ควรปรับตามด้วยเช่นกัน การรู้จุดแข็งของตัวเองและตอบโจทย์เทรนด์ใหม่ให้ได้ เป็นเรื่องที่จำเป็นมากสำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ”
3 เทรนด์หลักในยุคดิจิทัลที่สำคัญกับธุรกิจและตลาดทุนในปัจจุบัน
เทรนด์ที่หนึ่ง Big Data & AI ถ้าบริษัทไหนไม่มี อาจทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
เทรนด์ที่สอง Covidization ส่งผลกระทบด้านการเข้าถึงการลงทุน
เทรนด์ที่สาม Web3.0 & Blockchain มาเร็วและกระทบตลาดทุนแทบทุกส่วน
6 สิ่งที่อยากเห็นจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
ประการแรก New & Rekindled Interest in Investing
คนรุ่นใหม่บางกลุ่มที่เริ่มต้นลงทุนครั้งแรกผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล กลุ่มคนเหล่านี้แม้ไม่ได้มีกำลังซื้อที่ใหญ่แต่เปิดรับโอกาสการลงทุนใหม่ๆ และถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต
สิ่งที่ควรทำ คือ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ดึงดูดความสนใจของคนกลุ่มนี้
ประการที่สอง Speed, Convenience, Flexibility
การเข้าถึงที่ง่ายขึ้น สะดวก และยืดหยุ่น ล้วนเป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกรุ่นต้องการ ควรสร้างบริการและสินค้าใหม่รองรับ แต่ต้องไม่ทิ้งสินค้าเดิม เพราะสินค้าใหม่ แม้จะมีการเติบโตสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน
สิ่งที่ควรทำ คือ การสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ และผลิตภัณฑ์ลงทุนใหม่ ๆ ที่เติบโตสูงให้มากขึ้น
ประการที่สาม Being Early
เร็วกว่าเดิม ทั้งการระดมทุนและเข้าถึงนักลงทุนให้ได้เร็วกว่าเดิม ส่วนอีกด้าน คือ ด้านธุรกิจ หมายถึงโอกาสของบริษัทที่เข้าถึงดีลที่ดีได้เร็วกว่าเดิม
สิ่งที่ควรทำ คือ การเปิดโอกาสให้นักลงทุนค้นหาบริษัทที่เป็น Blue Chip ได้เร็วขึ้น และบริษัทที่เป็น Blue Chip ใหม่ๆเข้าถึงการระดมทุนได้ง่ายและรวดเร็ว
ประการที่สี่ Approachability
สร้างการเข้าถึง รู้จัก และเข้าใจผลิตภัณฑ์ลงทุนได้ง่าย
สิ่งที่ควรทำ คือ การทำให้ตัวตนทางโซเชียลมีเดียของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความสนุกและเป็นทางการได้ในเวลาเดียวกัน
ประการที่ห้า Collectivity
หลายๆ ครั้งที่นักลงทุนได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนธุรกิจ จึงเป็นเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรเชื่อมให้ใกล้ขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการ (Management) ธรรมาภิบาล (Governance) ความโปร่งใส (Transparency) ไปจนถึงความยั่งยืน (Sustainability)
ปัจจัยนี้ สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นด้วยการทำให้เกิดความเชื่อมต่อกับบริษัท ผลิตภัณฑ์ กับนักลงทุนได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นทางการเสมอไป
ประการสุดท้าย Investor Education
เทรนด์นี้จะเปลี่ยนจากกูรูที่แนะนำการลงทุน สู่ Community Investing มากยิ่งขึ้น
สิ่งที่ควรทำ คือ ส่งเสริมให้นักลงทุนค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างสมดุลในการกำกับดูแล
น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า อีกเทรนด์สำคัญสำหรับโลกและการลงทุนในอนาคต คือ ความยั่งยืน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องสังคมคาร์บอนต่ำก็สำคัญมาก หากไม่ตามเทรนด์ จะค้าขายกับประเทศอื่นในโลกอนาคตได้ลำบาก ขณะที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นักลงทุนให้ความสนใจเช่นเดียวกัน เพราะกระทบต่อการทำธุรกิจยั่งยืน
นักลงทุนต่างประเทศให้ความสำคัญกับ ESG มาก จากผลสำรวจของ BlackRock จำนวน 395 บริษัท พบว่า 50% ของนักลงทุนสนใจลงทุนในบริษัทที่มี ESG เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ และอีกครึ่งสนใจเพราะเป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีกว่าบริษัทที่ไม่มี ESG
บริษัทใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับ ESG เช่น ในไทยอย่างกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งจะดู ESG Rating ของบริษัทต่างๆ และนำไปเปรียบเทียบว่าจะลงทุนในบริษัทไหนดี แต่จะต้องจัดทำข้อมูลในการนำไปใช้เอง จึงอยากเสนอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำ ESG Rating เพื่อให้นักลงทุนสามารถหาข้อมูลได้ง่าย ไม่ต้องเข้าไปอ่านทุกบริษัทเอง
ด้านคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นทั้งลูกค้าและแรงงานก็ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก อย่าง Climate Change สิทธิ ความเท่าเทียม ความหลากหลาย ความสัมพันธ์ของบริษัทกับการเมือง ขณะที่คนรุ่นเก่าให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการขยายตัวทางเศรษฐกิจพอๆ กัน
ESG ช่วยดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำงานด้วย และอยากอยู่กับบริษัทนาน ๆ มากกว่าเรื่องค่าตอบแทน
ขอขอบคุณ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ได้พัฒนาและให้ความสำคัญ ESG เพื่อความยั่งยืน ทั้งการจัดทำ SET THSI Index ส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนไทยให้ได้เข้าไปอยู่ดัชนีความยั่งยืนสากล เช่น Dow Jones Sustainability Index (DJSI) ขณะที่สำนักงาน ก.ล.ต. ก็ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูล ESG ผ่าน 56-1 One Report
อยากให้บริษัทและนักลงทุนให้ความสำคัญกับ ESG เพราะในอนาคตจะกระทบกับความยั่งยืนทั้งธุรกิจและเศรษฐกิจแน่นอน เชื่อมั่นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นตัวกลางในการสื่อสารและช่วยส่งเสริม ESG ให้กับทั้งธุรกิจและนักลงทุนได้ดียิ่งขึ้น
ด้านนาย ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงจุดแข็งของตลาดทุนไทยในปัจจุบันใน 4 เรื่อง
1. สภาพคล่องดีขึ้นมาก มีการซื้อขายวันละเกือบ 1 แสนล้านบาท
2. การเข้าจดทะเบียน มีทั้งบริษัทใหญ่และกลาง ซึ่งอยู่ในธุรกิจที่ไทยมีจุดแข็ง เช่น อุตสาหกรรมอาหารและท่องเที่ยว
3. สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าในประเทศ
4. ฐานนักลงทุนเติบโตขึ้น ปัจจุบันมีกว่า 5 ล้านบัญชี
ขณะที่ โจทย์ใหญ่ 4 ด้านที่ผู้ร่วมเสวนาทั้ง 3 ท่านชี้จุดสำคัญกับการพัฒนาตลาดทุนไทยที่ต้องเผชิญกับทั้งความท้าทายและโอกาส ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมุ่งมั่นทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อปรับปรุงและส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น ดังนี้
โจทย์ข้อแรก “การลงทุนแบบไร้พรมแดน”
ตลาดจะสร้าง Online Application ที่สามารถเปิดบัญชีแบบ e-Open Account ให้ลงทุนได้สะดวกตลอดเวลา ปลอดภัย เชื่อมต่อกับต่างประเทศได้ พร้อมทั้งเสนอผลิตภัณฑ์ต่างประเทศ Fractional DR ที่ลงทุนได้เหมือนกับสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบัน และสามารถซื้อขายได้ตามทุนทรัพย์
โจทย์ข้อที่ 2 การเติบโตของธุรกิจนวัตกรรม
สนับสนุนการเข้าถึงตลาดทุนไทยของ SMEs และ Startups ผ่าน LiVE Platform ในรูปแบบ Partnership Platform ด้วยความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา เตรียมความพร้อมบริษัทเหล่านี้ และบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโต ให้สามารถเข้าระดมทุนได้ใน LiVE Exchange รวมถึงการออกกฎระเบียบให้กับภาคธุรกิจ New S-Curve และธุรกิจเทคโนโลยีให้เข้ามาระดมทุนได้ง่ายขึ้นด้วย
โจทย์ข้อที่ 3 กระบวนการบริการแบบดิจิทัล และการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
อนาคต Streaming จะเป็น Super App ในรูปแบบ One Stop Service ที่สามารถลงทุนได้ทั้งสินทรัพย์ดิจิทัล อย่าง Investment Token และ Utility Token ร่วมกับสินทรัพย์ดั้งเดิม รวมถึงลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ผ่าน Fractional DR ด้วยเงินบาท
โจทย์ข้อที่ 4 การลงทุนยั่งยืน
หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่า การส่งเสริมธรรมาภิบาลเป็นเรื่องสำคัญ มีการจัดตั้งสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และ CG Center ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาต่อยอดมาจนถึง CSR, ESG และการทำธุรกิจยั่งยืนในปัจจุบัน ผลที่ได้รับดีมาก บริษัทจดทะเบียนไทยได้รับการยกย่องทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ตลาดกำลังพัฒนาการต่อเชื่อมข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียน นำมาสร้างเป็นฐานข้อมูล ผ่าน “ESG Data Platform” และส่งต่อให้กับผู้ต้องการใช้อย่างสะดวก มีมาตรฐาน มีความเหมาะสมกับธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมให้นักวิเคราะห์สนใจวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์ ESG ให้กับนักลงทุน เช่น กองทุนรวม และ Index เหล่านี้คือกระบวนการในการสนับสนุนให้การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมีความหมายและได้ผลอย่างแท้จริง
ก้าวต่อไปในปีที่ 48
แน่นอนว่าในอนาคต ตลาดต้องเจอความท้าทายอีกมาก แต่ความท้าทายนั้น ก็มาพร้อมกับโอกาสใหม่ด้วยเช่นกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่หยุดพัฒนาตัวเอง และเดินหน้าร่วมกับพันธมิตรเชื่อมโยงโอกาสสู่ตลาดทุนแห่งอนาคต