SCGP กำไร 1,658 ลบ. Q1/65 ลดลง 22% มั่นใจยอดขายดีขึ้น Q2

HoonSmart.com>> “เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” เปิดกำไรไตรมาส 1/65 จำนวน 1,658 ล้านบาท ลดลง 22% จากงวดปีก่อน เหตุต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานพุ่ง ดันต้นทุนขายเพิ่มขึ้น 43% ด้านรายได้จากการขายเติบโต 34% แตะ 36,634 ล้านบาท ลั่นไตรมาส 2 ยอดขายเติบโตขึ้น รับการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ  หนุนทั้งปีเข้าเป้า 1.4 แสนล้านบาท ใช้งบลงทุน 2 หมื่นล้านบาท 

บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2565 มีกำไรสุทธิ 1,657.96 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.39 บาท ลดลงประมาณ 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,134.73 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.50 บาท โดยมีรายได้จากการขาย 36,634 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ายอดขายในไตรมาส 2/2565 จะเติบโตดีกว่าไตรมาส 1 และช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบจะช่วยสนับสนุนความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์อาหาร  รวมถึงการรับรู้รายได้จากการสร้างการเติบโตร่วมกันกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Merger and Partnership : M&P) ของ Duy Tan, Intan Group และ Deltalab เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น การขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากเยื่อธรรมชาติของโรงงานจังหวัดกาญจนบุรี โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารรวมคิดเป็น 25% ของกำลังผลิตปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้น 223 ล้านชิ้นต่อปี  จะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 2/2565  ด้วย

” SCGP มุ่งทำรายได้จากการขายในปีนี้ 140,000 ล้านบาทตามเป้าหมาย และเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยวางงบลงทุนในปีนี้ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้แผน 5 ปี (ปี 2565–2569) ที่จะใช้งบลงทุนรวม 100,000 ล้านบาท”นายวิชาญกล่าว

ส่วนสาเหตุหลักที่มีรายได้จากการขาย เพิ่มขึ้นมาจาก (1) การรวมผลการดำเนินงานของ Duy Tan, Intan Group และ Deltalab (2) การเติบโตของสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Integrated Packaging Business) ในกลุ่มสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค การส่งออกอาหารปรุงสำเร็จพร้อมทาน อาหารแช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยง (3) ปริมาณความต้องการและราคาของเยื่อกระดาษที่เพิ่มขึ้นจากความกังวลด้านการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

บริษัทฯ มี EBITDA เท่ากับ 4,887 ล้านบาท ลดลง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 10% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมี EBITDA margin ที่ 13% ส่วนกำไรสำหรับงวดเท่ากับ 1,658 ล้านบาท ลดลง 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 22% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีอัตรากำไรสุทธิที่ 5% ซึ่งผลการดำเนินงานที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลมาจากต้นทุนด้านวัตถุดิบและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น

บริษัทฯ มีต้นทุนขาย 30,346 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจาก (1) ต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจ (2) ค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น (3) การเข้าถึงกระดาษรีไซเคิลที่ทำได้ยากขึ้นในช่วงที่มีการเพิ่มขึ้นของการระบาดของโควิด 19 ในหลายประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบ และต้นทุนขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ ไตรมาสที 1/2565 แม้จะยังมีการระบาดของโรค COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลในหลายประเทศได้ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายการป้องกันการแพร่ระบาด โดยใช้แนวทาง Living with COVID ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจับจ่ายใช้สอยในภูมิภาคอาเซียนเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

การประกาศล็อคดาวน์เมืองเศรษฐกิจสำคัญต่าง ๆ ในประเทศจีนทำให้ท่าเรือและโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งถูกปิด ส่งผลกระทบให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ค่าระวางเรือที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์และยานยนต์ยังไม่คลี่คลาย รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้น ทำให้ประเทศตะวันตกใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อต่อต้านการเกิดสงคราม หนึ่งในนั้นคือการหยุดนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งทำให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลทำให้ภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการปรับราคาสินค้าให้สะท้อนกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ในส่วนผลการดำเนินงานที่ลดลงจากไตรมาสก่อน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากรายการพิเศษจากการปรับลดประมาณการเงินค่าหุ้นที่คาดว่าจะต้องจ่าย (Earn-Out) ของ Go-Pak ในไตรมาสก่อน

ในส่วน Core EBITDA เท่ากับ 4,988 ล้านบาท ลดลง 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และ Core Profit เท่ากับ 1,722 ล้านบาท ลดลง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งผลการดำเนินงานที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีสาเหตุหลักเหมือนกับที่กล่าวไปข้างต้น และผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมีสาเหตุหลักมาจากการปรับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น และปริมาณความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว