ดาวโจนส์ปิดบวก 139 จุด จ้างงานยังแกร่ง

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ บวก ดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 139 จุด ท่ามกลางซื้อขายผันผวนจากตลาดพันธบัตรเกิดภาวะ inverted yield curve ด้านข้อมูลตลาดแรงงานแข็งแกร่ง จ้างงานนอกภาคเกษตรมี.ค.เพิ่มขึ้น 431,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ด้านอัตราว่างงานลดลงดีกว่าคาดราคาน้ำมันดิบลดลง WTI ร่วงต่อ 1.01 ดอลลาร์ หลุด 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 1 เมษายน มีนาคม 2565 ปิดที่ 34,818.27 จุด เพิ่มขึ้น 139.92 จุด หรือ 0.40% ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวนจากตลาดพันธบัตรเกิด inverted yield curve ซึ่งบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ และจากข้อมูลตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งตอกย้ำคาดการณ์การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

Inverted Yield Curve คือ สภาวะที่อัตราผลตอบแทน (Yield) ของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น มากกว่าอัตราผลตอบแทน (Yield) ของพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 4,545.86 จุด เพิ่มขึ้น 15.45 จุด, +0.34%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,261.50 จุด เพิ่มขึ้น 40.98 จุด, +0.29%

ในตลาดพันธบัตรอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกิดภาวะ inverted ในช่วงเช้า โดยส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนตั๋วเงินคลังอายุ 2 ปีและ 10 ปีแคบลงและโค้งเข้าหากันเป็นครั้งที่สามในสัปดาห์นี้ ปรากฏการณ์นี้ที่ผ่านมาบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยแต่ละช่วงเศรษฐกิจถดถอยย้อนหลัง 8 รอบไปถึงปี 1969 เกิดขึ้นหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นมากกว่าอัตราผลตอบแทน พันธบัตรระยะยาว

เมื่อวานนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปิดที่ 2.38% ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปีซึ่งปิดที่ 2.44% เป็นครั้งแรกนับตั้งปี 2019

หุ้นกลุ่มธนาคารลดลง โดยหุ้นซิตี้กรุ๊ปลดลง 2% ขณะที่หุ้นผู้ผลิตชิปร่วงลงอีกโดยหุ้น Intel ลดลงเกือบ 3% และ หุ้น AMD ลดลง 1% ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความต้องการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

ตลาดขานรับข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 431,000 ตำแหน่ง แม้ต่ำกว่า 490,000 ตำแหน่งที่นักวิเคราะห์คาด ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.6% ดีกว่า 3.7%ที่นักวิเคราะห์คาด

เครก เออร์ลัม นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของ OANDA ให้ความเห็นว่า “รายงานการจ้างงาน กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง แม้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อยก็ตาม
แต่ข้อมูลเศรษฐกิจบางด้านไม่สดใส

สถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) รายงานดัชนีภาคการผลิตเดือนมีนาคมลดลงมาที่ระดับ 57.1 จาก58.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า จะเพิ่มขึ้นไปที่ 59.0

การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบรายเดือน จากเพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือนมีนาคม แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.0%

เอสแอนด์พี โกลบอลรายงาน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 58.8 สูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2021 และสูงกว่า 58.5 ตัวเลขเบื้องต้น และจาก 57.3 ในเดือนกุมภาพันธ์

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นำโดยกลุ่มเหมืองแร่ที่เพิ่มขึ้น 2.2% ขณะที่นักลงทุนรอข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่จะออกมาหลังตลาดปิดและยังเกาะติดการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 458.34 จุด เพิ่มขึ้น 2.48 จุด, +0.54%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,537.9 จุด เพิ่มขึ้น 22.22 จุด, +0.3%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,684.31 จุด เพิ่มขึ้น 24.44 จุด, +0.37%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,446.48 จุด เพิ่มขึ้น 31.73 จุด, +0.22%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคมลดลง 1.01 ดอลลาร์ หรือ 1% ปิดที่ 99.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 32 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 104.39 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล