รมว.คลัง มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯ “อาคเนย์ประกันภัย-ไทยประกันภัย”

HoonSmart.com>>รมว.คลังมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย“อาคเนย์ประกันภัย-ไทยประกันภัย”  มีผลตั้งแต่ 1 เม.ย.65  มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน  จัดสรรเงินสำรองไม่เพียงพอตามกฎหมาย ผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่สนับสนุนเงินเพิ่มเติม บอร์ด คปภ. แต่งตั้งให้กองทุนประกันวินาศภัยชำระบัญชี รับช่วงจ่ายเคลมอย่างเป็นธรรม ตั้งศูนย์ทั่วประเทศให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน  เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน

นาย สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท อาคเนย์ประกันภัย และบริษัท ไทยประกันภัย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 เป็นต้นไป โดยบอร์ด คปภ. ได้แต่งตั้งให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชี

สำหรับคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าว เพราะเห็นว่า บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน และไม่มีแหล่งเงินทุนมาเสริมสภาพคล่องต่อไป หลังจากผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ให้การสนับสนุนเพิ่มเติม   ทำให้การจัดสรรเงินสำรองตามมาตรา 23 และจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลังตามมาตรา 27/4 ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนไม่เพียงพอ แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีฐานะการเงินไม่มั่นคงและไม่เพียงพอต่อภาระผูกพัน ประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเห็นได้ว่าทั้งสองบริษัทไม่มีความสามารถและความพร้อมที่จะรับประกันภัย และประกอบธุรกิจประกันภัยได้ต่อไป ถ้าให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย ตลอดจนความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย

แต่หากบริษัทไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้มีสิทธิเสนอคำฟ้องยื่นต่อศาลปกครองกลางภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง

นอกจากนี้ เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของธุรกิจประกันภัยในภาพรวม สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย  โดยบูรณาการความร่วมมือกับกองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชี) กรณีผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายและได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้แล้วกับบริษัททั้งสองแห่ง สามารถติดต่อกองทุนประกันวินาศภัย เพื่อยื่นขอรับชำระหนี้ โดยกองทุนจะเข้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้มีการอนุมัติค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว

ส่วนผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับทั้งสองบริษัท สามารถยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัย โดยจะพิจารณาค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ส่วนกรณีขอรับคืนเบี้ยประกันภัยที่เหลือ ก็จะคืนให้ตามส่วนระยะเวลาตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่

สำนักงาน คปภ. ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน และอำนวยความสะดวกในการรับคำขอรับชำระหนี้ รวมทั้งการสนับสนุนบุคลากรในการรับคำขอรับชำระหนี้ ทั้งที่สำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและสำนักงาน คปภ. ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้บริการเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง มีการพัฒนา Web Application โดยเฉพาะขึ้น เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารได้รวดเร็วขึ้น ระบบจะแจ้งข้อมูลไปยังผู้เอาประกันภัยทางออนไลน์ พร้อมจัดเตรียมหมายเลขโทรศัพท์รวม 124 คู่สายทั่วประเทศ เพื่อตอบข้อซักถาม ทั้งนี้ ในช่วง 7 วันแรก นับแต่วันที่มีการเพิกถอนใบอนุญาตของทั้งสองบริษัท ได้มีการให้บริการโทรศัพท์ผ่านสายด่วน คปภ. 1186 จำนวน 10 คู่สาย ตลอด 24 ชั่วโมง

หากเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของทั้งสองบริษัท ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนดในประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้

“การเพิกถอนใบอนุญาตฯ ของทั้งสองบริษัทในครั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและเพื่อให้กองทุนประกันวินาศภัยเข้ามาดูแลการชำระหนี้ตามสัญญาประกันภัย ในการนี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กำชับให้ดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ เพื่อมิให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยเดือดร้อน โดยสำนักงาน คปภ. จะบูรณาการร่วมกับกองทุนประกันวินาศภัย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย ช่วยบรรเทา เยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มที่ ”

นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2565 สำนักงาน คปภ. ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เพื่อสอบสวนว่ามีกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทรายใดบ้างที่กระทำการเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย และสำนักงาน คปภ. จะจัดให้มีทีมการตรวจสอบพิเศษ (Special Audit) เพื่อตรวจสอบความถูกต้องกรณีที่บริษัทมีการโอนกรมธรรม์ไปยังบริษัทประกันภัยอื่น ในช่วงก่อนที่มีคำสั่งนายทะเบียนตามมาตรา 52 สำหรับรายชื่อบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ สามารถดูได้จากเว็บไซต์สำนักงาน คปภ. (www.oic.or.th) หรือสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Line Chatbot@Oicconnect ข้อมูลอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง