บล.โนมูระฯ ชี้เกณฑ์ ธปท.กดดัน SCB ต่อรองซื้อ ‘บิทคับ’ ไม่ถึง 1.78 หมื่นลบ.

HoonSmart.com>>นักวิเคราะห์คาดกลุ่มไทยพาณิชย์เลื่อนซื้อหุ้นบิทคับฯ จากเดิมคาดจะจบดีลสิ้นเดือนมี.ค.นี้ รอความชัดเจนมาตราการกำกับดูแลกลุ่มการเงินธนาคารพาณิชย์ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะออกมาในครึ่งปีแรก บล.โนมูระฯ มองหลักเกณฑ์นี้เป็นจิตวิทยาลบต่อ SCB ตลาดอาจกังวลต่อความสำเร็จของดีล  คาดราคาซื้อขายต่ำกว่า 1.78 หมื่นล้านบาท ด้านรมว.คลัง ยอมรับสินทรัพย์ดิจิทัลมีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทย  

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศแนวทางการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะออกร่างหลักเกณฑ์เพื่อรับฟังความเห็นก่อนที่จะออกประกาศหลักเกณฑ์ภายในครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าอาจจะทำให้กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ ( SCB) เลื่อนการตัดสินใจซื้อหุ้นบริษัท บิทคับ ออนไลน์ (Bitkub) ออกไปก่อน จากเดิมคาดว่าจะสรุปดีลในไตรมาส 1/2565

บล.โนมูระ พัฒนสินมองว่ามาตรการนี้ ถือเป็น Negative Sentiment ต่อ SCB เพราะอาจทำให้ตลาดมีความกังวลต่อความสำเร็จของดีลซื้อหุ้นบริษัท บิทคับ ออนไลน์ ของบล.ไทยพาณิชย์ ซึ่งอยู่ระหว่างทำ Due Diligence แต่มองว่า SCB จะยังสามารถเดินหน้าซื้อ Bitkub ต่อไปได้

อย่างไรก็ตามคาดว่ามูลค่าดีลซื้อ Bitkub มีโอกาสต่ำกว่าที่ SCB เคยแจ้งไว้ก่อนหน้าที่ 17,850 ล้านบาท เพราะเมื่อพิจารณามูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเดือนก.พ.2565  (ซึ่งรายงานโดย ก.ล.ต.) อยู่ที่ 1.0 แสนล้านบาท ลดลง -60% เทียบกับมูลค่าการซื้อขายในเดือน พ.ย. 2564 (ซึ่งเป็นเดือนที่ SCB ประกาศดีล) และจำนวนบัญชีที่มีการเคลื่อนไหวหรือ Active ของเดือน ก.พ. อยู่ที่ 4.95 แสนบัญชี ลดลง -29% เทียบกับในเดือน พ.ย. 2564 จึงอาจเป็นเหตุผลที่ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองด้านราคาให้กับ SCB

ด้านบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) มีความเห็นว่า ดีลการซื้อบิทคับของ  SCB มูลค่าเบื้องต้น 17,850 ล้านบาท ซึ่ง ณ สิ้นปี 2564 พบว่า 3% ของเงินกองทุน SCB มีมูลค่า 12,727 ล้านบาท  อย่างไรก็ดีนางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.ได้ระบุว่ากรณีของ SCB สามารถลงทุนใน Bitkub ได้ หากเกิน 3% ของเงินกองทุนก็เอาส่วนเกินไปหักเงินกองทุน และส่วนที่จะนำมาคิดเพดาน 3% คือ มูลค่าที่ไม่เกี่ยวกับ Goodwill ซึ่งดีล Bitkub คาดว่าจะมีมูลค่า Goodwill จำนวนมาก ทำให้ดีลการซื้อขายน่าจะเดินหน้าต่อไปได้ แต่ต้องติดตามต่อว่ามูลค่าจริงจะอยู่ที่เท่าไร  โดยฝ่ายวิจัยฯ ยังคงคำแนะนำ ถือ SCB ให้ราคาพื้นฐาน 132 บาท

ในงานสัมมนา สินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยกับสินทรัพย์ดิจิทัล” ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเก่า ดังนั้น จะต้องปรับตัวเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ โลกของดิจิทัลเทคโนโลยี โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2563-2564) ไทยมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเกิด “สินทรัพย์ดิจิทัล” มีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้นจาก 9 ราย เป็น 14 ราย  มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นจาก 240 ล้านบาทเพิ่มเป็น  4,800 ล้านบาท  จำนวนบัญชีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 1.7 แสนราย เป็น 2 ล้านราย นับเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และเป็นผู้เล่นรายใหม่นอกจากการลงทุนในตลาดหุ้น

รมว.คลัง กล่าวว่าต้องยอมรับว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีประโยชน์ในเรื่องของการเป็นทางเลือกในการระดมทุน และจะมีบทบาทอย่างมากในอนาคต แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปคือ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม  ซึ่งไทยยังขาดในเรื่องนี้ หากมีการพัฒนาอย่างจริงจังจะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ รวมไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ให้สามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลแทนการกู้เงินได้ รวมถึงต้องมีการพัฒนาบุคคลากรด้านดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อรองรับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในมิติต่าง ๆ เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต

ด้านนางรุ่ง กล่าวว่า กระแสสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความนิยมมากในไทย มีผู้ประกอบการและผู้เปิดปัญชีในการซื้อขายจาก 700,000 บัญชี ในปี 2563 เพิ่มเป็น 2.2 ล้านบัญชี ในปี 2564  ธนาคารพาณิชย์และกลุ่มการเงินต่างๆได้เข้ามาลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น

ปัจจุบันคริปโตเคอเรนซี่มีอยู่มากกว่า 1,500 เหรียญ และเหรียญส่วนใหญ่ยังมีอายุไม่ถึง 10 ปี ทำให้ไม่สามารถพิสูจน์ความมั่นคงได้ และยังมีความผันผวนของราคาสูง ทำให้ผู้ประกอบการหรือลูกค้ามีการบริหารความเสี่ยงค่อนข้างมาก และยังมีความเสี่ยงสูงเรื่องของการแลกเปลี่ยนด้วย แม้ว่าผู้ใช้และรับ Cryptocurrency จะยอมรับและเข้าใจความเสี่ยงได้ก็ตาม

ขณะเดียวกันยังไม่มีหน่วยงานที่กำกับดูแลที่ชัดเจน ทำให้มีโอกาสถูกหลอกลวงได้สูง ธปท.มองว่าคริปโตเคอเรนซี่ยังมีความเสี่ยงในการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุน  เสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องเข้ามาควบคุม เพื่อป้องการการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น อาชญากรรม การฟอกเงิน การค้าขายในตลาดมืด เป็นต้น

อย่างไรก็ตามธปท.ยังคงเปิดกว้างในการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด เพื่อทำให้ธนาคารพาณิชย์และกลุ่มการเงินสามารถนำเทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลมาทดลองในการช่วยยกระดับในการพัฒนาสินค้าและบริการทางการเงินให้ดียิ่งขึ้น และเกิดประโยชน์ต่อภาพรวมอย่างชัดเจน สามารถสร้างความยั่งยืน มีความปลอดภัย มีการดำเนินการอย่างมีธรรมภิบาล ไม่เกิดการกระทำที่ผิดฎหมาย และไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้าที่นำเงินมาฝากกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ธนาคารแห่งประเทศให้ความสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญจะต้องเดินไปอย่างระมัดระวัง จำเป็นต้องมีการบริหารความสมดุลในเรื่องของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ และการดูแลความเสี่ยง ให้เกิดความสมดุลกัน เพื่อทำให้ระบบการเงินของประเทศไทยมีเสถียรภาพ

“ธปท.ยังคงเปิดกว้างเทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ๆ แต่ต้องมีการบริหารความสมดุลในด้านการพัฒนานวัตกรรมและความเสี่ยงให้เหมาะสมควบคู่กัน ในช่วงแรก อาจจะมีรั้วแคบๆที่กั้นไว้บ้าง แต่เราก็มีประตูเว้นไว้ให้เพื่อเป็นทางออกให้ผู้ประกอบการค่อยๆ  ทดลองพัฒนาและมีผลออกมาชัดเจนที่เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมก็ค่อยๆ ขยับออกไป” นางรุ่ง กล่าว