เอสแอนด์พี ปรับลดเครดิต 4 แบงก์ไทย ส่ง Sentiment ลบต่อราคาหุ้นช่วงสั้น

HoonSmart.com>>”แสตนดาร์ดแอนด์พัวร์” (เอสแอนด์พี) ปรับลดเครดิต 4 ธนาคารไทย คือ SCB, KBANK, KTB และ TTB แต่ยังคงเครดิต BBL และ BAY จากมองหนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น-จะนานกว่าที่เคยคาดไว้, มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ช่วยประคองภาพรวม NPL แต่แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนช้าลง, เศรษฐกิจเปราะบาง และสถานการณ์ยูเครนอาจทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยช้ากว่าคาด โบรกฯมองส่ง sentiment เชิงลบต่อราคาหุ้นในระยะสั้น

บริษัท แสตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (เอสแอนด์พี) ประกาศปรับลดเครดิต (downgrade credit rating) 4 ธนาคาร ยกเว้น BBL, BAY คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ปรับลงมาเป็น BBB/Stable จาก BBB+/Negative, ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ปรับลงมาเป็น BBB/Stable จาก BBB+/Negative, ธนาคารกรุงไทย (KTB) ปรับลงมาเป็น BBB-/Stable จาก BBB/Negativeและธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ปรับลงมาเป็น BBB-/Stable จาก BBB/Negative อย่างไรก็ตาม ยังคง Credit rating เดิมสำหรับ BBL (BBB+/Stable) และ BAY (BBB+/Stable)

เอสแอนด์พี มองว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่เป็นระบบ (Systematic risk) สูงขึ้นในด้านหนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และจะอยู่เป็นเวลานานกว่าที่เคยคาดไว้ก่อนหน้า และเอสแอนด์พี มองว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ (Debt relief program) แม้จะช่วยประคองภาพรวม NPL ไม่ให้ปรับตัวขึ้น แต่ทำให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทำได้ช้าลง รวมถึง ภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง และการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน (Uneven recovery) โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อาจทำให้การฟื้นตัวกลับไปที่ Pre-COVID level ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยช้ากว่าคาด

บล.เคทีบีเอสที มองเป็นลบต่อ SCB, KBANK, KTB และ TTB ที่ถูกปรับลดเครดิตลง เพราะจะส่ง sentiment เชิงลบต่อราคาหุ้นในระยะสั้น ส่วนด้านต้นทุนในการออกหุ้นกู้จะกระทบจำกัด เพราะมีสัดส่วนหุ้นกู้เพียง 2-3% ของหนี้สินทั้งหมด (ส่วนใหญ่เป็นเงินฝาก) อย่างไรก็ดีจากสถานการณ์โควิดที่ไม่ได้รุนแรงเหมือนก่อนหน้านี้ ทำให้คาดว่า NPL จะยังคงทยอยเพิ่มขึ้นและไม่น่ากังวลมากนัก โดยคาด NPL ในปี 2565 อยู่ที่ 3.49% เพิ่มขึ้นจากปี 64 ที่ 3.11% ประกอบกับกลุ่มธนาคารมีการตั้งสำรองเผื่อมาเยอะมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมี Coverage ratio เฉลี่ยสูงถึง 177% ดังนั้นมองว่าราคาหุ้นที่จะปรับตัวลงเพราะประเด็นนี้เป็นจังหวะในการเข้าซื้อสะสมได้

โดยยังคงน้ำหนักเป็น “มากกว่าตลาด” เลือก KBANK และ SCB เป็น Top pick เพราะ valuation ยังถูก เทรดที่ระดับเพียง 0.72x PBV (-1.5SD below 10-yr average PBV) ด้าน NPL แม้ว่าจะยังอยู่ในขาขึ้น แต่เป็นการทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังมีมาตรการช่วยเหลือต่อถึงสิ้นปี 66 โดยเลือก KBANK ราคาเป้าหมายที่ 172.00 บาท อิง 2565 PBV เดิมที่ 0.80x (-1.25SD below 10-yr average PBV) และ SCB ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 150.00 บาท อิง 2565 PBV ที่ 1.1x (-1.00SD below 10-yr average PBV) เป็น Top pick

 
 
อ่านข่าว

SCB-KBANK-TTB นำดิ่งกลุ่มแบงก์หลัง S&Pลดเครดิต แต่พื้นฐานยังน่าสนใจ