ดาวโจนส์บวก 1 จุด จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ย ห่วงจีนล็อกดาวน์

HoonSmart.com>>ดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 1 จุด Nasdaq ร่วง-2.04% หวั่นการระบาดของโควิด-19 ในจีน  กังวลว่ามาตรการล็อกดาวน์และจำกัดการสัญจร อาจซ้ำเติมปัญหาห่วงโซ่อุปทาน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีแตะระดับ 2.145% ด้านราคาน้ำมันดิบสหรัฐลดลงเหลือ  103 ดอลลาร์ ส่วนตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้น นำโดยกลุ่มธนาคารที่เพิ่มขึ้น 3.2%

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 14 มี.ค.2565 ปิดที่ 32,945.24 จุด เพิ่มขึ้น 1.05 จุด หรือ 0.003 อ่อนตัวลงจากที่ปรับขึ้นในช่วงแรก แม้ราคาน้ำมันดิบลดลง ขณะที่นักลงทุนยังเกาะติดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และจับตาการประชุมของธนาคารกลาง(เฟด)ในสัปดาห์นี้ที่คาดว่าจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกภายใต้ภาวะเงินเฟ้อ
ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 4,173.11 จุด ลดลง 31.20 จุด, -0.74%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,581.22 จุด ลดลง 262.59 จุด, -2.04%

ดัชนี Nasdaq และดัชนี S&P 500 ต่างลดลง จากหุ้นเทคโนโลยีที่เจอแรงกดดันรอบใหม่ ด้านราคาน้ำมันดิบสหรัฐลดลงต่ำกว่า 103 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์

หุ้นแอปเปิลลดลง 2.6% เป็นหนึ่งในหุ้นที่ลดลงมากอันดับต้น ๆ และนำหุ้นเทคโนโลยีอื่นให้ลดลง เพราะการระบาดของโควิด-19 ในจีนทำให้กังวลว่ามาตรการล็อกดาวน์และจำกัดการสัญจร อาจซ้ำเติมปัญหาห่วงโซ่อุปทานให้แย่ลง หุ้นอินเทลลดลง 3.1% หุ้นเซล์ฟอร์ซลดลง 2.4%

หุ้นควอลคอมลดลง 7.2% ส่วนหุ้นผู้ผลิตชิปอื่นลดลงทั่วทั้งกระดานโดยหุ้นมาร์เวลล์ลดลง 4.5% และหุ้น Nvidia ลดลง 3.4%

ตลาดจับตาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ขณะที่ทั้งสองประเทศเริ่มการเจรจาอีกครั้งเมื่อวานนี้ ด้านผลกระทบทางการเงินจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะชัดเจนขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าก่อนพันธบัตรรัฐบาลครบกำหนดชำระเงิน

นักลงทุนยังจับตาการประชุมของเฟดในวันที่ 15-16 มี.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งเป็นก้าวแรกที่จะยุติมาตรการกระตุ้นในช่วงการระบาดของโควิด รวมทั้งรอการประมาณการใหม่ของทั้งอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจ อันเนื่องจากความไม่แน่นอนจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น

ลินด์ซีย์ เบลล์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดและนักยุทธศาสตร์การเงินของ Ally กล่าวว่า ขณะนี้ คาดว่าเฟดคาดจะระมัดระวังในเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยในปี 2022 เนื่องมาจากความขัดแย้งในยูเครน

“ความขัดแย้งกำลังเพิ่มความซับซ้อนให้กับงานที่ยากอยู่แล้วของเฟด และเฟดมีแนวโน้มที่จะยังคงตัดสินใจบนฐานข้อมูล ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปี”

ยาน แฮทซีอุส นักเศรษฐศาสตร์ โกลด์แมน แซคส์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า การจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.50% ขึ้นอยู่กับสงครามในยูเครนด้วย สงครามทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น ภาวะการเงินตึงตัว และแนวโน้มการเติบโตของประเทศอื่นลดลง บ่งบอกถึงอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและการเติบโตที่ลดลงในสหรัฐอเมริกา

“เราคิดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน จะไม่พิจารณาปรับขึ้น 0.50% จนกว่าความเสี่ยงด้านลบต่อเศรษฐกิจโลกจากสงครามจะลดลง และไม่ได้หวังว่าสงครามจะทำให้เฟดยกเลิกการขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในทุกการประชุม”

โกลด์แมน แซคส์ คาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้งในปีนี้ และ 4 ครั้งในปี 2023 “ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงตลอดทั้งปี เฟดอาจจะหยุดชั่วคราวก็ต่อเมื่อเห็นว่านโยบายที่เข้มงวดขึ้น มีความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจถดถอย”

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีแตะระดับ 2.145% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2019

หุ้นเฮลธ์แคร์ปรับตัวขึ้นหลังจากเสิ่นเจิ้น เมืองใหญ่ในศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญในประเทศจีน สั่งระงับการดำเนินธุรกิจที่ไม่จำเป็นทั้งหมด และให้มีการตรวจหาเชื้อทั่วทั้งเมืองจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

หุ้นโมเดอร์นาเพิ่มขึ้น 8.5% หุ้นไฟเซอร์เพิ่มขึ้น 3.9%

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้น นำโดยกลุ่มธนาคารที่เพิ่มขึ้น 3.2% นักลงทุนยังเกาะติดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งมีการเจรจารอบใหม่ ขณะที่การสู้รบรุนแรงมากขึ้นจากการที่รัสเซียรุกคืบเข้าใกล้กรุงเคียฟ นักลงทุนยังจับตาการประชุมของเฟด

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 436.35 จุด เพิ่มขึ้น 5.18 จุด, +1.20%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,193.47 จุด เพิ่มขึ้น 37.83 จุด, +0.53%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,369.94 จุด เพิ่มขึ้น 109.69 จุด, +1.75%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,929.11 จุด เพิ่มขึ้น 301.00 จุด, +2.21%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 6.32 ดอลลาร์ หรือ 5.8% ปิดที่ 103.01 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนพฤษภาคมลดลง 5.77 ดอลลาร์ หรือ 5.1% ปิดที่ 106.90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล