“ฟิทช์ เรทติ้งส์” เพิ่มอันดับเครดิต TMB-TBANK-TCAP-UOBT

“ฟิทช์ เรทติ้งส์” ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตของ TMB, TBANK, TCAP และ UOBT และคงอันดับเครดิตของธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก

“ฟิทช์ เรทติ้งส์” ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต (TBANK) เป็น ‘AA-(tha)’ จาก ‘A+(tha)’ และเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัททุนธนชาต (TCAP) ซึ่งบริษัทโฮลดิ้ง ของ TBANK เป็น ‘A+(tha)’ จาก ‘A(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นเป็น ‘F1+(tha)’ จาก ‘F1(tha)’ โดยทั้ง 3 บริษัทมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

นอกจากนี้ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ยังปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) เป็น ‘A+(tha)’ จาก ‘A(tha)’ และเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating หรือ VR) ของธนาคารยูโอบี (ไทย) (UOBT) เป็น ‘bbb-’ จาก ‘bb+’

ขณะที่ คงอันดับเครดิตอื่นของ TMB TBANK และ UOBT และอันดับเครดิตของธนาคารและสถาบันการเงินไทยที่เป็นบริษัทลูกของสถาบันการเงินต่างประเทศ ได้แก่
– ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT)
– ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) (BOCT)
– ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) (ICBCT)
– บริษัท ลีสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) (ICBCTL)
รวมทั้งคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้มีผู้ค้ำประกันของ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด หรือ CIMBT Auto ซึ่งค้ำประกันโดย CIMBT

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ให้เหตุผลการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ TMB ว่า เนื่องจากธนาคารมีความแข็งแกร่งทางการเงินสะท้อนได้จากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร (VR) โดย ประเมินว่าโครงสร้างเครดิต (credit profile) ระหว่าง TMB กับ ธนาคารพาณิชย์เอกชนรายใหญ่ที่มีอันดับเครดิตที่สูงกว่านั้นมีความแตกต่างกันในระดับที่น้อยลง เช่น ในด้านคุณภาพสินทรัพย์

ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ ในขณะที่มีอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘bbb+’ ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลของประเทศไทย (‘BBB+’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ คาดว่าความแตกต่างในโครงสร้างเครดิตระหว่าง TMB กับ ธนาคารขนาดใหญ่ที่ลดลงแล้วนั้นจะสามารถทรงตัวได้ต่อเนื่องตลอดวัฎจักรเศรษฐกิจ

สำหรับ TBANK การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสะท้อนถึงโครงสร้างการเงินของธนาคารที่ได้ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งส่งผลให้โครงสร้างเครดิตของ TBANK เมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศที่มีอันดับเครดิตสูงกว่านั้นมีความแตกต่างน้อยลง

ทั้งนี้ TBANK เป็นผู้นำในด้านธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และยังได้รับการสนับสนุนทางด้านการดำเนินงาน การระดมทุน และการบริหารจัดการจาก Bank of Nova Scotia (หรือ BNS: AA-/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) โดย BNS มีสัดส่วนการถือหุ้น 49% ใน TBANK

ฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศของ TCAP ลง 1 อันดับ จากอันดับเครดิตของ TBANK ซึ่งเป็นบริษัทลูกหลักของกลุ่ม เพื่อสะท้อนถึงการด้อยสิทธิทางโครงสร้าง (Structural Subordination) ของ TCAP ในฐานะบริษัทโฮลดิ้ง และสัดส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (Minority Interests) ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์

ฟิทช์ใช้ปัจจัยสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันการเงินในการพิจารณาอันดับเครดิตของธนาคารลูก (หรือบริษัทลูก) รายอื่นที่เหลือ โดยฟิทช์เชื่อว่าธนาคารลูกน่าจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากในการดำเนินงานปรกติ ในกรณีที่มีความจำเป็นจากธนาคารแม่ของธนาคารแต่ละแห่ง ซึ่งได้แก่ Bank of China (Hong Kong) Limited. (‘A’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) Industrial and Commercial Bank of China (‘A’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) United Overseas Bank Limited (UOB, ‘AA-’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และ CIMB Bank Berhad (CIMB Bank) ทั้งนี้ฟิทช์มองว่าธนาคารลูกนั้นมีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารแม่และกลุ่ม เนื่องจากการที่ธนาคารแม่มีสัดส่วนการถือหุ้นในระดับสูง มีอำนาจควบคุมการบริหารงานในธนาคารลูกและมีการเชื่อมโยงการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกันกับกลุ่มในระดับสูง (integration) อีกทั้งยังมีการใช้ชื่อและสัญลักษณ์ทางการค้าร่วมกันกับธนาคารแม่