HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบ ดัชนีดาวโจนส์ร่วง 184 จุด ท่ามกลางการซื้อขายผันผวน นักลงทุนยังคงกังวลสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศจะห้ามนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซีย ด้านราคาน้ำมันดิบขึ้นต่อกว่า 3% ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลดลง
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 8 มีนาคม 2565 ปิดที่ 32,632.64 จุด ลดลง 184.74 จุด หรือ 0.56% ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูง
ขึ้น
ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 4,170.70 จุด ลดลง 30.39 จุด, -0.72%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,795.55 จุด ลดลง 35.41 จุด, -0.28%
ในช่วงแรกดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นไปถึง 585 จุด ก่อนที่ถอยลึกลงไปในแดนปรับฐาน ขณะที่ดัชนีS&P 500 ร่วงจากปัจจัยทางเทคนิค และดัชนี Nasdaq ตกลงไปอยู่ในขาลง
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศจะห้ามนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย โดยที่ไม่มีพันธมิตรยุโรปเข้าร่วม ขณะที่ สหราชอาณาจักรคาดว่าจะยุติการนำเข้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันของรัสเซียภายในสิ้นปี 2022 และพิจารณาห้ามนำเข้าก๊าซธรรมชาติ
นักลงทุนวิตกว่าการประกาศของประธานาธิบดีไบเดนอาจทำให้ราคาก๊าซสูงขึ้นและซ้ำเติมเงินเฟ้อ รวมไปถึงกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอันเป็นผลจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย
ทั้งนี้ราคาน้ำมัน น้ำมันเบนซิน ก๊าซธรรมชาติ และโลหะมีค่า เช่น นิกเกิลและพัลลาเดียม เพิ่มสูงขึ้น
คริส เสนเยก นักวิเคราะห์จาก Wolfe Research ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ความขัดแย้งของรัสเซียกับยูเครน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ และแนวโน้มเฟดที่ไม่แน่นอนอย่างมาก ทำให้กลัวว่าเศรษฐกิจถดถอยจะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลาดจึงเทขายออกอย่างรวดเร็ว
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 4.30 ดอลลาร์ หรือ 3.6% ปิดที่ 123.70ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2008 ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 4.77 ดอลลาร์ หรือ 3.9% ปิดที่ 127.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008
London Metal Exchange (LME) ระงับซื้อขายนิกเกิลหลังจากราคาพุ่งขึ้นเหนือ 100,000 ดอลลาร์ต่อตัน และไม่คาดว่าจะกลับมาซื้อขายก่อนวันที่ 11 มีนาคม
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคาดว่าจะมีผลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จากที่นักลงทุนเคยคาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% และ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดส่งสัญญาณว่าอาจปรับขึ้น 0.25% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 15 -16 มีนาคม
จอห์น ลินช์ จาก Comerica Wealth ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ความผิดพลาดของนโยบายอาจเกิดขึ้นได้ แต่เชื่อว่าเฟดจะจัดการการปรับอัตราดอกเบี้ย ด้วยพิจารณาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของสงครามในยูเครน และประธานเฟด ดูเหมือนจะพร้อมที่จะจัดการกับเงินเฟ้อ และพร้อมที่จะดำเนินการเพื่อสนับสนุนผู้บริโภคจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น
นักลงทุนจับตาการรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันพฤหัสบดีนี้
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นมาที่ 1.85%
หุ้นเชลล์เพิ่มขึ้น 2.6% หลังจากออกแถลงการณ์ขอโทษที่ซื้อน้ำมันรัสเซียราคาถูกและจะขายกิจการไฮโดรคาร์บอนทั้งหมดในรัสเซีย
หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้น โดยหุ้นเชฟรอน เพิ่มขึ้น 5.24% หุ้นเอ็กซอน โมบิล เพิ่มขึ้น 0.77%
กระทรวงพาณิชย์รายงาน การขาดดุลการค้าเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 9.4% มูลค่า 89.7 พันล้านดอลลาร์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่า 87.1 พันล้านดอลลาร์ ที่นักวิเคราะห์คาด การนำเข้ามีมูลค่า 314.1 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1.2% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ การส่งออกมีมูลค่า 224.4 พันล้านดอลลาร์ลดลง 1.7%
ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง นำโดยกลุ่มสื่อที่ลดลง 3.6% แต่กลุ่มธนาคารปรับขึ้น 2% ขณะที่นักลงทุนยังเกาะติดสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 415.01 จุด ลดลง 2.12 จุด, -0.51%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,964.11 จุด เพิ่มขึ้น 4.63 จุด, +0.067%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,962.96 จุด ลดลง 19.31 จุด, -0.32%,
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,831.51 จุด ลดลง 3.14 จุด, -0.024%
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 4.30 ดอลลาร์ หรือ 3.6% ปิดที่ 123.70ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2008 ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 4.77 ดอลลาร์ หรือ 3.9% ปิดที่ 127.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008