ตลาดจับตามองไปที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ วันที่ 16 มี.ค. นี้ โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแค่ 0.25% เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงผลกระทบของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่อาจเกิดขึ้นได้
ในเดือนนี้เรายังคงน้ำหนักการลงทุนน้ำมัน เป็น Slightly Overweight ต่อจากเดือน ก.พ. และปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในทองคำจากระดับ Neutral ในเดือน ก.พ. เป็น Slightly Overweight เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ไม่แน่นอนและการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ
สำหรับสินทรัพย์เสี่ยง ในระยะยาวยังคงให้น้ำหนัก Slightly Overweight เพราะจากสถิติในอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2484 เวลาที่เกิดเหตุการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Event) ดัชนี S&P500 จะมี Drawdown เฉลี่ยที่ -4.6% และใช้เวลาในการปรับฐานรวมการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดมาที่ระดับเดิมราว 2 เดือน
ช่วงระยะเวลา 1-2 เดือนข้างหน้าต่อจากนี้ ความเสี่ยงรัสเซีย-ยูเครน ยังมีความไม่แน่นอนสูง ให้ติดตามการเจรจาอย่างใกล้ชิด สำหรับนักลงทุนที่รับความผันผวนได้ต่ำ เราแนะนำให้ใช้จังหวะที่ตลาดรีบาวด์ทยอยลดน้ำหนักหุ้นลงบางส่วน แต่ในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า เรามองว่าหุ้นจะเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตราสารหนี้ หากเศรษฐกิจโลกไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)
อย่างไรก็ตาม สัญญาณเตือนที่นักลงทุนต้องติดตามคือ Inverted Yield Curve หรือ ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี ลบด้วยผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี มีค่าติดลบ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ก็มักจะตามมาด้วยเศรษฐกิจถดถอยอยู่เสมอ โดยปัจจุบันส่วนต่างของ 2-10 Spread แคบลงมาอยู่ที่ระดับ 0.25%
สำหรับตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ มีปัจจัยกดดันจากทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐฯและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นสูง ส่งผลต่อการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล จึงเน้นลงทุนในตราสารอายุเฉลี่ยระยะสั้น (Low Duration) และให้ผลตอบแทนสูง (HY Yield) และตราสารหนี้เอเชีย ส่วนตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก คาดว่าให้ผลตอบแทนจำกัดจาก Yield Spread แคบลง ให้มุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มเอเชียและไทยที่มีปัจจัยราคาน่าสนใจ และYield Spread มากกว่า 3%
Highlighted Funds
MGF : เรามองว่าหุ้นเติบโตคุณภาพดี (Quality Growth Stock) จะให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงกลางวัฏจักร (Mid-Cycle) และสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาด เนื่องจากหุ้นประเภทนี้มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูง มีกำไรและรายได้เติบโตสม่ำเสมอ อีกทั้งยังทนกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เงินเฟ้อและดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นได้ดี
M-EDGE : โอกาสลงทุนในหุ้นที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน และเติบโตอย่างยั่งยืน คัดเลือกลงทุนหุ้นคุณภาพดี สามารถสร้างมูลค่าได้เหนือกว่าดัชนีหุ้นโลก อีกทั้ง กองทุนกระจายการลงทุนไปในธุรกิจที่มี business cycle ต่างกัน และหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เหมาะสมกับภาวะตลาดในปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง
M-BT : กองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่นที่คัดสรรหุ้นไทยที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ผ่านการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิคโดยทีมผู้จัดการกองทุนที่มากด้วยประสบการณ์และมีกลยุทธ์การบริหารพอร์ตที่ยืดหยุ่นตามสภาวะตลาด ที่มีความผันผวน
MEURO : ปัจจุบันเราเริ่มเห็นตลาดหุ้นยุโรปดัชนี STOXX600 ถูกปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯดัชนี S&P500 นอกจากนี้ Valuation ของตลาดหุ้นยุโรปยังถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดย Relative Forward P/E ของดัชนี STOXX600 และดัชนี S&P500 อยู่ที่ระดับ -2S.D.
M-EUBANK : หุ้นกลุ่มธนาคารได้รับประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยหุ้นกลุ่มธนาคารยุโรปมี Valuation ค่อนข้างถูก มี P/BV Ratio 0.75 เท่า เมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มธนาคารสหรัฐฯ ที่มี P/BV Ratio 1.45 เท่า นอกจากนี้หุ้นกลุ่มธนาคารยุโรปได้รับการปรับประมาณการกำไรมากกว่าหุ้นกลุ่มธนาคารสหรัฐฯ