KTAM Focus : ยืนหยัดสู้ปูติน

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย (KTAM)

วิกฤตโควิดปี 2020 “ปลดล็อค” ข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจยุโรป “พี่ใหญ่” เยอรมนียอมจัดงบขาดดุลเพื่อเพิ่มการใช้จ่ายขณะ 27 ชาติสมาชิกอียู (หลังสหราชอาณาจักรแยกตัวออกไป) จับมือกันเหนียวแน่นแบบที่แทบไม่เคยเห็นมาก่อน จนสามารถบรรลุแผนลงทุนขนาดใหญ่ภายใต้นโยบาย European Green Deal ซึ่งนอกจากมุ่งลดโลกร้อนแล้วยังเข้ามาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตระยะยาวของภูมิภาคอีกด้วย

ยุโรปเผชิญความท้าทายใหม่หลัง 24 ก.พ. รัสเซียรุกรานยูเครน Product Strategist ของ KTAM ได้สอบถามความคิดเห็นจาก Invesco ผู้จัดการกองทุนหลัก KT-EURO เมื่อ 25 ก.พ. ได้มุมมองที่น่าสนใจดังนี้

+ กองทุนหลักไม่มีสัดส่วนการลงทุนในรัสเซียและยูเครนแต่อย่างใด และไม่ได้มีการลงทุนในบริษัทยุโรปที่มีสัดส่วนรายได้จากรัสเซียหรือยูเครนอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

+ ตลาดน่าจะผ่านจุดต่ำสุด (bottom out) เมื่อนักลงทุนเห็นความชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งขณะนั้น (25 ก.พ.) เรารู้ความต้องการบางส่วนของปูตินแล้วแต่ยังไม่ใช่ทั้งหมด เช่น ต้องการยูเครนทั้งประเทศเลยหรือไม่? ต้องการเปลี่ยนรัฐบาลยูเครนหรือเปล่า? รวมถึงยังไม่รู้แน่ชัดว่าชาติตะวันตกจะตอบโต้อย่างไรบ้าง?

+ ราคาหุ้นสะท้อนการปรับพอร์ตของนักลงทุนจากผลกระทบสำคัญ 3 ด้าน (I) นโยบายของธนาคารกลาง (II) ราคาพลังงานพุ่งขึ้น (III) ความเร่งด่วนในการหาแหล่งก๊าซธรรมชาติมาทดแทนรัสเซีย

+ สิ่งที่เกิดขึ้นคงเป็นผลกระทบระยะสั้น (1-2 เดือน) และระยะกลาง (3-12 เดือน) เสียมากกว่า ทว่าผลกระทบระยะยาว (12 เดือนขึ้นไป) ไม่น่าจะมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรป แต่ประเทศรัสเซียมีแนวโน้มที่จะถดถอยลงไปเหมือนตอนสหภาพโซเวียตล่มสลาย ขณะความสัมพันธ์ระหว่างชาติสมาชิก NATO จะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีก

เกือบ 2 สัปดาห์ผ่านไป โลกได้รับความชัดเจนยิ่งขึ้นว่า กองทัพรัสเซียรุกรานยูเครนเป็นวงกว้างกว่า 10 เมือง “ล้ำเส้น” ไปไกลมากเทียบกับตอนยึดไครเมียหลายปีก่อน พันธมิตรตะวันตก NATO มุ่งกดดันปูตินด้วยชุดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากรวมถึง แบนธนาคารรัสเซียบางแห่งไม่ให้ใช้ระบบ SWIFT “แช่แข็ง” สินทรัพย์ทุนสำรองของแบงก์ชาติรัสเซียในยุโรปและอเมริกาเหนือ บรรดาบริษัทเอกชนก็ทยอยออกมาแสดงจุดยืนไม่คบค้าสมาคมด้วย ส่งผลให้เงินรูเบิลอ่อนค่าลงอย่างหนัก ตลาดหลักทรัพย์รัสเซียปิดทำการยาวตั้งแต่เกิดเรื่อง หุ้นรัสเซียที่ซื้อขายในต่างประเทศราคาร่วงจนแทบไม่เหลือมูลค่า ตราสารหนี้ก็เสี่ยงผิดนัดชำระ ฯลฯ

สงครามยังจำกัดวงเพียง 2 ประเทศคู่ขัดแย้ง หลังนาโตปฏิเสธการกำหนดเขตห้ามบิน (no-fly zone) เหนือน่านฟ้ายูเครน ส่งสัญญาณชัดเจน “ไม่อยากถูกดึงเข้าร่วมสงคราม” เพราะถ้ากำหนดไปก็จะมีการบังคับใช้ตามมาโดยนาโตอาจต้องยิงเครื่องบินรบรัสเซียที่ละเมิดน่านฟ้า ด้านปูตินออกมา “ตีกัน” กล่าวว่าประเทศใดกำหนด no-fly zone ก็จะถือเป็นการประกาศสงครามกับรัสเซียทันที

อันตรายจากปูตินดึงดูดพันธมิตรตะวันตกเข้าใกล้กันยิ่งขึ้น ผลโพลล่าสุดชี้ ประชาชนบางประเทศยุโรปที่ยังอยู่นอกกลุ่มฯอย่าง สวีเดน และ ฟินแลนด์ สนับสนุนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตด้วยสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

“ความพยายามปรับตัว” ขับเคลื่อนงบประมาณและผลักดันการลงทุน เยอรมนีอัดงบทหารนับแสนล้านยูโร อีกทั้งวางแผนสร้างท่าเรือรับก๊าซธรรมชาติ (LNG terminals) มุ่งปลดแอกตัวเองจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงรัสเซียทางท่อมากไป โมเมนตัมการเปลี่ยนแปลงนี้ “แรง” และส่งผลต่อนโยบายพรรคการเมืองที่เตรียมลงสนามเลือกตั้งในหลายประเทศยุโรป

“หุ้นยุโรป” น่าสนใจลงทุนมากขึ้นอีกในระยะยาว บนแนวโน้มใหม่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม แรงกดดันหนักหน่วงจากปูตินยังคงก่อความไม่แน่นอนสูง กลยุทธ์ลงทุนหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงระยะนี้จึงควรสร้างสมดุล 3 ส่วน ในมุมมองของเรา

  1. 1. โมเมนตัมของราคากำลังเป็นขาขึ้น เพราะได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อสูงและภาวะขาดแคลนซัพพลายคือ “กองทุนที่อิงสินค้าโภคภัณฑ์” ได้แก่ KT-MINING, KT-OIL, KT-ENERGY และ KT-GOLD
  2. 2. ปัจจัยเสี่ยงสำคัญกระทบน้อย “ห่างไกลยูเครน” และ “เงินเฟ้อต่ำ” ได้แก่ “หุ้นอาเซียน” KT-ASEAN “หุ้นไทย” KT-SET50, KT-HiDiv, KTSF (เน้น large cap เพราะวิเคราะห์ด้วยปัจจัยมหภาค) “หุ้นญี่ปุ่น” KT-JAPAN (เลือก small cap เพื่อลดผลกระทบจากค่าเงินเยน)
  3. 3. “แทงสวน” upside สูงหากสถานการณ์คลี่คลาย ได้แก่ KT-EUROTECH, KT-EURO และ KT-FINANCE

ไอเดียกองทุนรวมมีให้ทุกวัน ผู้สนใจเชิญรับชม Fund Today by KTAM ทุกเช้าวันทำการเริ่มเวลา 8:45 น. สามารถพิมพ์คำถามทางไลฟ์ Facebook: KTAM Smart Trade หรือรับฟังและร่วมพูดคุยใน Clubhouse: KTAM Smart Trade สดพร้อมกันสองช่องทาง นอกจากนี้ยังมีคลิปให้ดูย้อนหลังได้ที่ Youtube: KTAM TV ONLINE

#คุยทุกวันฟันทุกเช้า #ฟันทูเดย์845

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน