HoonSmart.com>> “ไทยเศรษฐกิจประกันภัย” เผยผลงานปี 64 ดีกว่าคาดทั้งด้านการดำเนินงานและความมั่นคงทางการเงิน รักษาอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุนกว่า 500% ท่ามกลางวิกฤติโควิด – 19 ชี้โอกาสครบรอบ 80 ปี เดินหน้าพัฒนาบริการและช่องทางออนไลน์ตอบสนองลูกค้าทุกกลุ่ม ยกระดับศูนย์บริการทั่วประเทศ หลังสัดส่วนงานต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นเป็น 60% วางเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับ 900 ล้านบาทในปี 65
นายธนพล บุญวรุตม์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย (TSI) เปิดเผยผลดำเนินงานปี 2564 ว่า บริษัทฯ มีการเติบโตสอดคล้องกับการเติบโตของเบี้ยประกันภัยของอุตสาหกรรม โดยมีเบี้ยประกันรับรวม 673 ล้านบาท จากปี 2563 มีเบี้ยประกันรับรวม 665 ล้านบาท เป็นงานประเภทรถยนต์ 520 ล้านบาท หรือลดลง 78% และงานประเภท non motor ที่เติบโตขึ้น 99 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันรับกลุ่ม non motor 150 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75 ล้านบาท จากปี 63 คิดเป็นสัดส่วนงาน 22% ของเบี้ยรับรวม จากปีที่แล้วมีเพียง 11 % ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายบริษัทฯ ในการเพิ่มสัดส่วนเบี้ยประกันกลุ่ม non motor ที่ 25% โดยส่วนใหญ่มาจากงานประเภทประกันภัยทางทะเลและขนส่ง ความเสี่ยงภัย และประกันเบ็ดเตล็ดที่เพิ่มขึ้นถึง 80-90% ซึ่งเป็นไปตามขีดความสามารถของการรับงานที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งงานจากกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่ไม่ใช่กรมธรรม์ประกันโควิด
ขณะเดียวกันค่าสินไหมและค่าใช้จ่ายในการจัดการสินไหมสุทธิในปี 2564 ลดลง 46.4 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 23จากการดำเนินนโยบายมุ่งเน้นการบริหารจัดการภายใน ทั้งด้านการบริหารจัดการข้อมูล ให้สามารถวิเคราะห์และสะท้อนความเป็นจริงที่ใกล้เคียงที่สุด เพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจและกำหนดนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งในด้านสินไหมและการรับงาน เช่น การจำกัดความเสี่ยงจากการรับประกันรถยนต์บางประเภทที่มีอัตราส่วนความเสียหายสูง ส่งผลให้ในปี 2564 บริษัทฯ มีผลดำเนินงานดีขึ้นโดยขาดทุนสุทธิลดลง 66% จาก 129.4 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 44.4 ล้านบาท จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนของบริษัทล่าสุดสูงกว่า 500%
“ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ท้าทายมากสำหรับธุรกิจประกัน เพราะนอกจากกำลังซื้อของลูกค้าจะลดลงจากภาวะเศรษฐกิจแล้ว ความเชื่อมั่นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เราเดินหน้าขยายตลาดได้ลำบาก เราจึงต้องดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและต้องปรับกลยุทธ์ในช่วงระหว่างปี โดยไม่เน้นการเร่งเบี้ยประกันภัยแต่เพิ่มการเอาใจใส่ ดูแลผู้เอาประกัน โดยบริหารความเสี่ยงภายในองค์กรให้บริษัทฯ มีความพร้อมในการดูแลผู้เอาประกันภัย ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ที่ขาย และการบริการสินไหม ดังนั้นจะเห็นได้ว่าถึงแม้เบี้ยประกันปี 64 เราโตเพียง 1% แต่ผลดำเนินงานเราดีขึ้นจากปีก่อนถึง 66% โดยปัจจัยหลักก็มาจากการพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการภายในให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นายธนพล กล่าว
ด้านนางสาวอรลดา เผ่าวิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวเสริมว่า ในปี 2565 เป็นปีที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจครบรอบ 80 ปี โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายในการพัฒนาการให้บริการที่ทันสมัยและรวดเร็วให้กับลูกค้าและคู่ค้าทั้งก่อนและหลังการขาย ผ่านออนไลน์แอปพลิเคชัน เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า และสนับสนุนงานบริการของโบรกเกอร์และตัวแทนรายย่อย ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้บริการในปัจจุบันที่มีสัดส่วนการใช้บริการผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 หลังจากช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจประกันภัยประสบปัญหาด้านความเชื่อมั่นจากการปิดตัวลงของบริษัทประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากการขายกรมธรรม์ประเภท เจอ จ่าย จบ
อย่างไรก็ตาม ด้วยการดำเนินนโยบายแบบระมัดระวัง บริษัทฯ ไม่ได้รับประกันโควิดประเภทเจอ จ่าย จบ จึงไม่ได้รับผลกระทบต่อสถานะทางการเงินเรื่องการจ่ายสินไหมแต่อย่างใด ในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ยังได้เพิ่มศูนย์บริการที่จังหวัดอุดรธานีอีก 1 แห่ง รวมเป็นศูนย์บริการ 10 แห่ง และผู้บริหารระดับสูงได้เดินสายพบปะตัวแทนรายย่อย เพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความมั่นคงและนโยบายการบริหารจัดการของบริษัทฯ และนำข้อมูลมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ดียิ่งขึ้น
“ในปี 65 TSI ยังคงทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยยังคงสัดส่วนงานกรุงเทพและต่างจังหวัดไว้ที่ 40:60 พร้อมเตรียมยกระดับศูนย์ในต่างจังหวัดเพื่อให้สามารถรองรับกับแผนการขยายตลาดที่จะรุกครอบคลุมยังภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ในขณะที่จะรักษาสัดส่วนตลาดภาคใต้ ซึ่งในปีที่ผ่านมาสามารถทำตลาดได้ถึงร้อยละ 12 ของเบี้ยทั้งหมด ปีนี้เราวางเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมไว้ที่ 900 ล้านบาท ด้วยสัดส่วนงาน motor และ non motor ยังคงเป็น 75 : 25 โดยมุ่งเน้นการทำตลาดอย่างเข้มข้น ผ่านกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดในรูปแบบ Traditional และ Digital เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักและเข้าถึงผลิตภัณฑ์และการบริการที่ง่าย สะดวกยิ่งขึ้น ” นางสาวอรลดา กล่าว