ดาวโจนส์ปิดร่วง 482 จุด วิตกสงครามรัสเซีย-ยูเครน

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงต่อ ดัชนีดาวโจนส์ปิดลบ 482 จุด จากระหว่างวันทรุดกว่า 700 จุด วิตกความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนตึงเครียดมากขึ้น สหรัฐฯและชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย ด้านตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ขยับบวกเล็กน้อย ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 22กุมภาพันธ์ 2565 ปิดที่ 33,596.61 จุด ลดลง 482.57 จุด หรือ 1.42% แต่ฟื้นตัวจากที่ทรุดระหว่างชั่วโมงซื้อขายกว่า 700 จุด จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ตึงเครียดมากขึ้น

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 4,304.76 จุด ลดลง 44.11 จุด, -1.01% ปิดในแดนปรับฐานหลังจากที่ลดลงกว่า 10% จากระดับสูงสุด
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,381.52 จุด ลดลง 166.55 จุด, -1.23%

หุ้น HomeDepotลดลง 8.9% แม้ผลการดำเนินงานที่ดีกว่าคาดและถ่วงดัชนีดาวโจนส์

หุ้น Macy ลดลง 5% แม้กำไรดีกว่าคาดและประกาศซื้อหุ้นคืนมูลค่า 2 พันล้านดอลลารร์และเพิ่มการจ่ายเงินปันผลขึ้น 5%

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อวานนี้สั่งคว่ำบาตร VEB ธนาคารรัสเซีย และธนาคารกองทัพของรัสเซีย พันธบัตรรัฐบาล บุคคลที่ร่ำรวยบางรายและครอบครัว ขณะที่สหราชอาณาจักรคว่ำบาตรทางเศราฐกิจ 5 ธนาคารรัสเซียและบุคคลที่ร่ำรวย 3 ราย

การคว่ำบาตรของสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรเกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน รับรองอิสรภาพของ 2 เขตแบ่งแยกดินแดนที่แยกตัวของจากยูเครน รวมทั้งส่งกองกำลังเข้าไปในสองเขตแบ่งแยกดินแดนนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้การเจรจาสันติภาพกับประธานาธิบดีไบเดนไม่เกิดขึ้น

ความขัดแย้งเพิ่มความวิตกให้กับนักลงทุนที่จับตาการดำเนินการครั้งต่อไปของธนาคารกลางอยู่แล้วที่ปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้น เพื่อควบคุมแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้น สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนอาจทำให้เงินเฟ้อรุนแรงขึ้นและทำให้เกิดการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจอื่นๆ

นักวิเคราะห์ จาก Blanke Schein Wealth Management กล่าวว่า ขณะที่ตลาดอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน นโยบายของธนาคารกลาง(เฟด)ยังคงเป็นข้อกังวลที่สำคัญที่สุดสำหรับนักลงทุนในขณะนี้ โดยระบุในบทวิเคราะห์ว่า ตลาดกำลังอยู่ใน ‘wait and see mode’ ขณะที่นักลงทุนรอความเคลื่อนไหวของเฟด

นักลงทุนคาดว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งตั้งแต่เดือนหน้า และมีโอกาส 100% ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังจากการประชุมวันที่ 15-16 มีนาคมนี้ โดยที่ FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งวิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของ บ่งชี้ว่าเฟดจะปรับดอกเบี้ย 0.25%

ไอเอชเอส มาร์กิต รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นเดือนกุมภาพันธ์ปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 56.0 สูงสุดในรอบ 2 เดือน จาก 51.1 ในเดือนมกราคม ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตเพิ่มขึ้นมาที่ 52.5 จาก 50.5

Conference Board รายงาน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ลดลงเป็นเดือนที่ 2 มาที่ 110.5 จาก 111.1 ในเดือนมกราคม แต่สูงกว่า 110.0 ที่นักวิเคราะห์คาด การณ์ที่ระดับ

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นำโดยกลุ่มทรัพยากรพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น 3.3% นักลงทุนเกาะติดสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน และกังวลเกี่ยวกับข้อมูลเศรษฐกิจ

ข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เบื้องต้นที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์แสดงให้เห็นว่า GDP ชะลอตัวลงในไตรมาสที่สี่ของปี 2021 โดยเพิ่มขึ้น 0.3% จากไตรมาสก่อนหน้าและเพิ่มขึ้น 4.6% จากระยะเดียวกันของปีก่อน

อัตราเงินเฟ้อของฝรั่งเศสลดลงจากระดับสูงสุดในรอบ 13 ปีในเดือนมกราคม โดยเมื่อเทียบรายปีเพิ่มขึ้น 3.3% จาก 3.4% ในเดือนธันวาคม

หุ้น UBS เพิ่มขึ้นกว่า 8% แม้รายงานกำไรรายไตรมาสลดลง แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดและตั้งเป้าใหม่ไว้ค่อนข้างสูง

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 455.12 จุด เพิ่มขึ้น 0.31 จุด, +0.07%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,494.21 จุด เพิ่มขึ้น 9.88 จุด, +0.13%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,787.60 จุด ลดลง 0.74 จุด, -0.01%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,693.00 จุด ลดลง 38.12 จุด, -0.26%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 1.28 ดอลลาร์ หรือ 1.4% ปิดที่ 92.35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 1.45 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 96.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ในระหว่างวันราคาน้ำมัน WTI ปรับตัวขึ้นถึง 5.4% ไปที่ 95.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ per Brent พุ่งขึ้น 3.8% ไปที่ 99.17 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล