KTAM Focus : หมาตัวละ $4 หมื่น

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย (KTAM)

The End of Easy Money กูรูตลาดการเงินแถวหน้า Mohamed El-Erian เล่าเรื่องอุปมาที่น่าสนใจในช่วงหนึ่งของ Hidden Forces podcast ถ่ายทอดมุมมองเกี่ยวกับจุดสิ้นสุดของยุค “เงินหาง่าย” ไว้ดังนี้

ชายคนหนึ่งกลับบ้านพร้อมโชว์ “หมา” ให้ครอบครัวดูอย่างภาคภูมิใจว่าซื้อมา $40,000 พอลูกเมียเห็นก็ถามด้วยอารมณ์ฉงนปนตกใจ “พ่อทำอะไรนะ?” ชายคนนั้นตอบว่า “นี่คือดีลที่ดีเยี่ยม! เพราะเขาขาย ‘แมว’ ตั้ง $50,000 แน่ะ!”

Relative vs. Absolute อดีตซีอีโอ PIMCO ใช้อุปมาดังกล่าวอธิบาย “วิธีคิดเชิงเปรียบเทียบ” (relative mindset) ซึ่งสนับสนุนให้นักลงทุนซื้อสินทรัพย์โดยมิได้คำนึงถึง “มูลค่าของมันเอง” แต่ไปเทียบกับสิ่งอื่น (ที่แพงกว่า คุ้มค่าน้อยกว่า หรือพูดง่ายๆคือ “แย่กว่า”) ภาวะดังกล่าวอาจดำเนินอยู่ได้เป็นระยะเวลายาวนานอย่างเช่นเมื่อเฟดทำ QE พิมพ์เงินเข้าซื้อพันธบัตรจนยีลด์ต่ำมาก (ราคาแพงมากจนไม่น่าถือ) ไล่เงินออกจากตลาดพันธบัตรไปแสวงหาสินทรัพย์อื่นที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นเรื่อยๆ (เช่น ตราสารหนี้ high yield เกรดต่ำมากๆ หุ้นของบริษัทที่ยังขาดทุน SPAC คริปโต NFT ฯลฯ) แล้วมันก็สร้างผลตอบแทนยอดเยี่ยมจริงๆด้วย! จนกระทั่งถึง “จุดเปลี่ยน” ตลาดหันกลับมาคิดแบบ “สัมบูรณ์” (absolute คือตัดสินใจลงทุนโดยพิจารณามูลค่าพื้นฐานของสินทรัพย์นั้นๆ ไม่ใช่แค่เทียบกับสิ่งอื่นที่แย่กว่า) บางคนจะเริ่มตั้งคำถามว่า “หมาตัวนั้นราคา $40,000 จริงหรือ?” แล้วปลุกให้คนอื่นๆตื่นขึ้นด้วย! El-Erian ยอมรับ “คาดเดายาก” ว่าปรากฏการณ์นี้จะเกิดเมื่อใด? แต่ถ้ามันมาแล้วเราทำความเข้าใจได้เร็วพอก็ยังมีเวลากลับตัวทัน

คำถามชวนคิด: ใครมี “หมาตัวละ $4 หมื่น” อยู่ในพอร์ตบ้าง? (ถ้ามี) เยอะเกินไปหรือเปล่า?

The Great Rotation บทความแรกปี 2022 ในคอลัมน์ KTAM Focus เผยแพร่ 9 ม.ค. พยายามสร้าง “ความเข้าใจ” ปรากฏการณ์ Rotation กระแสเงินลงทุน “เปลี่ยนตัวเล่น” โดยออกจากหุ้นเติบโตสูงไปเข้าหุ้นวัฏจักรอิงสภาพเศรษฐกิจ …ผ่านไปเกือบเดือนครึ่ง ตลาดค่อนข้างสอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว เราจึงหยิบเนื้อหาบางตอนมานำเสนอ ซ้ำ-ย้ำ-ทวน

คำถามเงินล้าน: rotation รอบนี้ “ฉาบฉวย” ใช้เวลาไม่เท่าไหร่ก็กลับทิศ หรือจะ “ลากยาว” หลักเดือน/ไตรมาส/ปี?

หลายคนยังยึดติดประสบการณ์เก่าจากทศวรรษก่อน ดีมานด์อ่อนแอ ค่าจ้างขึ้นช้า ราคาโภคภัณฑ์ตกต่ำ เงินเฟ้อต่ำเรื้อรังจนเสี่ยงเงินฝืด ยีลด์พันธบัตรขึ้นประเดี๋ยวเดียวก็กลับลงมาทำจุดต่ำสุดใหม่ทุกที (bond bull market) นักลงทุนกลุ่มนี้คงมองตลาดหมุนตัวเล่นแค่ “ชั่วคราว” จึงอยากเดินหน้าซื้อถัวรัวหุ้นเทคตามสูตรเดิมที่เคยใช้แล้วเวิร์ค

Transitory Inflation “เงินเฟ้อสูงแค่ชั่วคราว” Jerome Powell ประธานเฟดประเมินแนวโน้มราคา “ผิดอย่างรุนแรง” ก่อนกลับลำช่วงปลายปีซึ่งช้ามาก เป็นบทเรียนสอนเราให้ “เปิดใจ” พิจารณาข้อมูลใหม่อย่างถี่ถ้วนและไม่มองข้ามสัญญาณการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (paradigm shift)

เศรษฐกิจสหรัฐปัจจุบันต่างจากยุค 2010-20 หลังวิกฤตการเงินโลก “ดีมานด์” อ่อนแอ แต่ปัญหาของทศวรรษใหม่คือขาดแคลน “ซัพพลาย” (เรานำเสนอ paradigm shift ข้อนี้ไว้ใน “สั้นได้ ยาวดี KT-FINANCE” 10 ต.ค. 2021) ฝั่งดีมานด์แข็งแกร่งเพราะผลสืบเนื่องของนโยบายกระตุ้นช่วงวิกฤต และตลาดแรงงานสหรัฐตึงตัวจนเข้าสู่ “ยุคทองของลูกจ้าง” (ตำแหน่งว่างเยอะเลยต่อรองเงื่อนไขดีๆได้มาก เปลี่ยนงานง่าย ค่าแรงพุ่ง) ภาวะเงินเฟ้อสูงจึงน่าจะ “ลากยาว” เช่นเดียวกับปัจจัยขับเคลื่อนปรากฏการณ์ stock rotation (เป็นไปได้ว่า rotation จะลากยาวเช่นกัน)

ธนาคารกลางหลักๆนำโดยเฟดน่าจะ Live with Inflation “ทำใจ” ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสภาวะเงินเฟ้อสูงยาวนาน โดยปรับนโยบายเข้มงวดเพียงเพื่อไม่ให้ระดับราคาพุ่งกระจายไร้ผู้ดูแล แต่ไม่พังเศรษฐกิจ เพราะหนี้สาธารณะสูงขึ้นมากหลังโควิด ถ้าเศรษฐกิจพังรัฐบาลก็เก็บภาษีได้น้อยไม่พอชำระหนี้ จนสุดท้ายเฟดอาจต้องลดดอกเบี้ยกลับลงมาเหลือ 0% และปั๊ม QE พิมพ์เงินซื้อพันธบัตรเพิ่มขนาดงบดุลใหญ่กว่าเดิมอีก!

สงครามระอุ – เงินเฟ้อหนุน – ตุนโภคภัณฑ์ คือธีมตลาดและไอเดียลงทุนวีคนี้ ไฮไลท์อยู่ที่การประชุม รมว.ต่างประเทศ สหรัฐ-รัสเซีย ปลายสัปดาห์เพื่อหาทางออกกรณียูเครน และมีประเด็นอื่นๆอีกด้วย

+ สับสน! ทัพรัสเซียถอนจริงหรือหลอก? ทุบหุ้นสหรัฐดิ่ง 2 สัปดาห์ติด

+ มหาอำนาจเร่งเจรจานิวเคลียร์อิหร่าน ฉุดน้ำมันลบครั้งแรกใน 9 สัปดาห์

+ รายงานประชุมยันเฟดจ่อขึ้นดอกเบี้ย มี.ค. และอยากเร่งลดขนาดงบดุล

+ บ่นของแพงแต่ก็ซื้อ! นักช้อปอเมริกัน “บ่ยั่น” ดันค้าปลีก ม.ค. พุ่งเหนือคาด

+ ทุนนอกโถมเข้าไทยหนุนบาทแข็งสุด 7 เดือน SET “นิวไฮ” รอบ 2 ปีครึ่ง

ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์กดดัน หลายกองทุนหุ้นมี upside สูงหากวิกฤตยูเครนคลี่คลาย แต่บอกยากว่าเมื่อใด? เรายังคงยึดกลุ่มโภคภัณฑ์เป็นหลักโดย KT-OIL, KT-ENERGY “โอกาสเปิด” อีกครั้งหลังราคาน้ำมันย่อลง น่าสนใจซื้อเพิ่มเช่นเดียวกับ KT-MINING ซึ่งได้ปัจจัยหนุนจากจีนเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วน KT-GOLD ควรใช้กระจายความเสี่ยง

ไอเดียกองทุนรวมมีให้ทุกวัน ผู้สนใจเชิญรับชม Fund Today by KTAM ทุกเช้าวันทำการเริ่มเวลา 8:45 น. สามารถพิมพ์คำถามทางไลฟ์ Facebook: KTAM Smart Trade หรือรับฟังและร่วมพูดคุยใน Clubhouse: KTAM Smart Trade สดพร้อมกันสองช่องทาง นอกจากนี้ยังมีคลิปให้ดูย้อนหลังได้ที่ Youtube: KTAM TV ONLINE

#คุยทุกวันฟันทุกเช้า #ฟันทูเดย์845

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน