HoonSmart.com>>ครม.ดันสุดลิ่มมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษี หนุนตลาดรถระบบไฟฟ้าทั้งผลิตในประเทศและนำเข้า บล.คันทรี่ระบุ รถยนต์-รถกระบะได้ 70,000-150,000 บาทต่อคัน รถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน EA-NEX รับประโชน์เต็มๆ เตือนหุ้นพลังงานบริสุทธิ์ ราคาแพงไปเกินมูลค่าพื้นฐานที่ 80 บาท หุ้นโรงไฟฟ้า GULF,GPSC อิเล็กทรอนิกส์คึกคัก
บล.คันทรี่ กรุ๊ป ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ก.พ.2565 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ผลิตภายในประเทศ และนำเข้า ครอบคลุมทั้งรถยนต์ รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ โดยแบ่งเป็น 2 เฟสในช่วงปี 2565-2568 ได้แก่
1. เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะ 70,000-150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน
2. ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0%
3. ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในต่างประเทศและนำเข้าทั้งคันสูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ถึงปี 2566
4. ยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศจำนวน 9 รายการ
ฝ่ายวิจัยประเมินว่ามาตรการสนับสนุนรถ EV จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้เล่นหลักในประเทศอย่าง EA และ NEX โดย EA มีผลิตภัณฑ์กลุ่มแบตเตอรี่ EV แบบครบวงจร ประเมินว่ามาตรการด้านเงินอุดหนุน 70,000 150,000 บาทต่อคันจะทำให้ราคารถ EV ของบริษัทถูกกว่าคู่แข่งราว 10% และบริษัทถือหุ้น 40% ใน NEX (ไม่มีคำแนะนำ) ที่ประกอบกิจการหลังการขาย บริการเช่าและชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับพอร์ต EV ของ EA คาดว่ามาตรการส่งเสริมด้าน EV นี้จะหนุนราคาหุ้นขึ้นในระยะสั้น แต่ยังคงคำแนะนำ ถือ สำหรับ EA มูลค่าพื้นฐาน 80 บาท เพราะหุ้นมีมูลค่าที่แพงแล้ว ขณะที่ upside ต่าง ๆ ก็สะท้อนผ่านราคาหุ้นไปแล้ว
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วยมาตรการภาษี และ มาตรการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อเพิ่มอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างแรงจูงใจและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการในไทย
ในปี 2567-2568 จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก โดยยกเลิกการยกเว้น/ลดอากรนำเข้า รถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) แต่ยังคงมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือ ให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนดต่อไป เพื่อทำให้ต้นทุนรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคันที่นำเข้าสูงกว่ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อาทิ การยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับชิ้นส่วนที่มีการนำเข้าในช่วงปี 2565-2568 การให้นับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่ที่นำเข้าเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศได้ไม่เกิน 15% ของราคายานยนต์ไฟฟ้าหน้าโรงงาน การผลิตรถยนต์ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพื่อชดเชยการนำเข้าในช่วงแรก (กรณีผลิตชดเชย ภายในปี 2567 ให้ผลิตเท่ากับจำนวนที่นำเข้าในปี 2565 – 2566 และหากจำเป็นต้องขยายเวลา การผลิตชดเชยถึงปี 2568 และ การผลิตหรือใช้ แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศตามเงื่อนไขที่กำหนด
“การดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งหวังให้ ราคารถยนต์ และรถจักรยานยนต์ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) สามารถแข่งขันได้ และแผน 30@30 โดยปี ค.ศ. 2030 จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย โดยนายกรัฐมนตรีและครม. ยังเห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย เพื่อไม่ให้ไทยสูญเสียโอกาส และความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะตอกย้ำความเป็น Detroit of Asia ของไทย และยังการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”นายธนกร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่ได้มีการพิจารณาราคารถยนต์ไฟฟ้าต่อคันจะอยู่ที่เท่าใด ซึ่งในวันนี้เป็นการเห็นชอบในภาพรวม โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง
ตลาดหุ้นวันที่ 15 ก.พ. ดัชนีปรับตัวขึ้นแรง ยืนเหนือ 1,700 จุดได้อีกครั้ง โดยปิดที่ 1,701.45 จุด เพิ่มขึ้น 16.76 จุด หรือ+0.99% มูลค่าซื้อขาย 91,607.43 ล้านบาท ตอบรับข่าวดี รัสเซียถอนทหารบางส่วนออกจากพรมแดนยูเครน และครม.อนุมัติมาตรการส่งเสริมรถ EV ส่งให้ราคาหุ้น EA และบริษัทในกลุ่ม NEX ,BYD ปรับตัวขึ้นแรง รวมถึงหุ้นโรงไฟฟ้าที่มีการลงทุนธุรกิจแบตเตอรี่ เช่น GPSC และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ DELTA พุ่งแรงกว่า 8% ปิดที่ 418 บาท เพราะมีการพัฒนาและเสนอขายผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศ