แอสเซท พลัส ออก RMF หุ้นเวียดนาม ชูสะสมระยะยาวรับเกษียณ

บลจ.แอสเซท พลัส แนะจัดพอร์ตลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสสะสมเงินก่อนเกษียณ ส่งกองทุน ASP-VIETRMF ลงทุนหุ้นเวียดนาม มั่นใจเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตดีและมีศักยภาพ เปิดขายครั้งแรก (IPO) ตั้งแต่วันนี้ – 17 ก.ย.นี้ ลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท

นายรัชต์ โสดสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ เนื่องจากพื้นฐานที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจประเทศเวียดนาม โดยปัจจุบันมีเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าสู่เวียดนามเป็นอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ส่งผลให้ตลาดหุ้นเวียดนามเติบโตขึ้นอย่างมาก และมีบริษัทจดทะเบียนใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามจากปัจจัยดังกล่าวจึงเล็งเห็นโอกาสการลงทุน บริษัทฯ จึงออกกองทุนเปิด แอสเซทพลัส เวียดนาม โกรท เพื่อการเลี้ยงชีพ (ASP-VIETRMF) เป็นกองทุนตราสารทุนระดับความเสี่ยง 6 มีนโยบายเน้นการลงทุนในตราสารทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือมีธุรกิจหลักในประเทศเวียดนาม ที่เชื่อว่ามีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต โดยผสมผสานทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามโดยตรงผ่านการคัดเลือกหุ้นรายตัวโดยผู้จัดการกองทุน บลจ. แอสเซท พลัส การลงทุนผ่านหน่วยลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ และกองทุนรวม ETF ที่เน้นลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม ซึ่งเหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ และคาดหวังได้รับผลตอบแทนในระยะยาว โดยมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน1

กองทุน ASP-VIETRMF มีมูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท กำหนดเสนอขายครั้งแรก (IPO) ตั้งแต่วันนี้ – 17 ก.ย.2561 ลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท ภายหลัง IPO กองทุนจะเปิดให้ซื้อทุกวันทำการ และขายคืนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทุกวันพุธ หากตรงกับวันหยุดจะเลื่อนเป็นวันทำการถัดไปภายในสัปดาห์นั้น

“บริษัทจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ลงทุนได้ออมเงินระยะยาว และยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยเรามองว่าการลงทุนในประเทศเวียดนามนั้น เหมาะสมกับการลงทุนเพื่อการออมในระยะยาว เนื่องจากเรามองว่าประเทศเวียดนามยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมากในอนาคต”นายรัชต์ กล่าว

ทั้งนี้ จากปัจจัยหลัก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. ศักยภาพของประชากรในเวียดนาม พร้อมที่จะรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยประชากรในประเทศเวียดนามส่วนใหญ่ เป็นประชากรในวัยทำงาน ประกอบกับปัจจุบันที่เวียดนามมีอัตราการว่างงานต่ำ ประชากรส่วนใหญ่มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศปรับตัวไปในทางที่ดี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลัก ในการส่งเสริม การยกระดับจากประเทศด้อยพัฒนาสู่ประเทศกำลังพัฒนา

2. มีการลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาในประเทศอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเวียดนามได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่าง ๆ กระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติ ต้องการที่จะเข้ามาใช้เวียดนามเป็นตลาดและฐานส่งออกมากขึ้น ซึ่งคาดว่าในอนาคต เวียดนามจะสร้างสัญญานี้กับทางฝั่งยุโรปเช่นกัน

3. การสนับสนุนจากรัฐบาล ได้แก่ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริหารค่าเงินด่องเพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในช่วงที่เกิดการอ่อนค่าลงของสกุลเงินในภูมิภาค เพื่อกระตุ้นการส่งออก และการเพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและเพื่อไม่ให้ความผันผวนจากภายนอกเข้ามาสร้างผลกระทบต่อธุรกิจเวียดนาม อีกทั้งเรื่องข้อตกลงทางการค้าที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ เช่น ข้อตกลงกับกลุ่มเศรษฐกิจพิเศษ APEC, TPP, RCEP,และ ASEAN รวมถึงนโยบายที่ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น การผ่อนปรน สิทธิในการเป็นเจ้าของบริษัทจดทะเบียนของชาวต่างชาติ (Foreign Ownership) จากเดิมที่ไม่เกิน 49% เป็น 100% ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนามให้ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ และ ผลักดันตลาดหุ้นเวียดนามให้เติบโตต่อไปด้วย นายรัชต์กล่าว

อย่างไรก็ตามแม้ว่าตอนนี้ตลาดเวียดนามจะผันผวนอย่างมาก จากปัจจัยรบกวนภายนอกประเทศระยะสั้นถึงระยะกลาง อาทิเช่น สงครามทางการค้า จะเห็นว่าตลาดเวียดนามปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง อย่างก้าวกระโดดมาถึง 6 เท่า จาก ปี 2556 (ที่มา: Credit Suisse : Asia Pacific / Vietnam, Equity Research Strategy , Bloomberg, ณ 27 พ.ย. 2560) ประกอบกับผลการดำเนินการเฉลี่ยดัชนี 18% ต่อปี (ที่มา: Bloomberg, ณ 21 ธ.ค. 2560) แสดงถึงพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง รวมถึงการผลักดันของรัฐบาล เพื่อพัฒนาตลาดหุ้น จาก Frontier Market สู่ Emerging Market ภายในปี 2020 ด้วยแล้ว ช่วยให้ตลาดมีแนวโน้มการขยายตัวในอนาคต เหมาะกับการลงทุนในระยะยาว อย่างไรก็ตามการลงทุนในตลาด Frontier Market เหมาะกับนักลงทุนที่มีความเข้าใจในการลงทุน และสามารถยอมรับความเสี่ยงสูงได้