รีดภาษีขายหุ้น วอลุมเหลือ 5 หมื่นลบ. ไทยเสี่ยงหลุดจอเรดาร์ ตปท.ต้นทุนเทรดพุ่ง170%

HoonSmart.com>>สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเสนอผลศึกษา กรณีรัฐเก็บภาษีขายหุ้น วอลุ่มเทรดหดลง 40% กระทบเป็นวงกว้าง ทั้งการระดมทุนภาคเศรษฐกิจจริง  การพัฒนาตราสารการเงินใหม่ มาร์เก็ตเมคเกอร์ได้ไม่คุ้ม ต้นทุนเทรดหุ้นเพิ่มเฉลี่ย 70% โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติอาจจะสูงถึง 170% ภาษีนิติบุคคลหายไปมาก  สิ้นปีนี้ดัชนีไม่เข้าเป้า 1,800 จุด 

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เข้าพบรมว.คลัง เพื่อเสนอผลการศึกษาการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction tax) ว่าจะมีผลกระทบต่อสภาพคล่องที่จะลดลงอย่างนัยสำคัญ คาดหดตัวราว 40% เหลือมูลค่าซื้อขาย(วอลุ่ม)เฉลี่ยประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อวัน คำนวณจากค่าเฉลี่ยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่มูลค่าซื้อขายเฉลี่ย 80,000 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจลดลง โดยภาครัฐได้รับฟังและยืนยันว่ายังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ก็คงต้องรอความชัดเจนจากกระทรวงการคลังอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษา มองว่า 1.สภาพคล่องในตลาดทุน 2 ปีข้างหน้า มีโอกาสลดลงอย่างแน่นอน จากการการเริ่มทำ Quantitative Tightening (QT) หลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยทั่วโลก หรือเข้าสู่นโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้น เห็นได้จากปี 2564 ที่มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 93,000 ล้านบาทต่อวันสูงมากปัจจุบันลดลงเหลือเฉลี่ย 60,000-80,000 ล้านบาทต่อวัน

2. หากมีการเก็บภาษีจากการขายหุ้น จะทำให้ต้นทุนในการลงทุนของนักลงทุนทุกประเภทสูงขึ้นอย่างนัยสำคัญ คาดจะสูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 70% หรือ 0.7 เท่า คาดคิดเพียงนักลงทุนต่างประเทศ จะมีต้นทุนสูงขึ้นประมาณ 1.7 เท่า หรือ 170% อาจส่งผลทำให้นักลงทุนไม่เข้ามาลงทุนในประเทศ

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทย หากมองในระยะยาว ก็ไม่ได้มีจุดขายมากนัก เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งยังต้องมีการพัฒนา สร้างจุดขาย เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามา เช่น การดึงบริษัทเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาอยู่ในตลาดฯ , ความจำเป็นที่จะมีการพัฒนาตราสารอีกหลายประเภท เป็นต้น หากผู้สร้างสภาพคล่อง หรือมาร์เก็ตเมคเกอร์ ให้กับผู้เล่นในตลาดฯจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ไม่คุ้มที่จะเข้ามาทำ ขาดการพัฒา ในที่สุด ภาษีนิติบุคคลก็จะลดลงมากกว่าภาษีขายหุ้นที่จะเก็บได้  กรณีบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ในช่วง 3 ปีก่อนหน้า  เทียบกับ 3 ปีหลัง มีการจ่ายภาษีนิติบุคคคลเพิ่มเป็นเท่าตัว นอกจากเป็นไปตามกลไกโปร่งใสแล้ว ยังมีการสร้างกำไร เพิ่มมูลค่ากิจการ สร้างแรงจูงใจต่อราคาหุ้น

สำหรับผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ภาคการระดมทุน หรือภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้น  อาจจะได้เม็ดเงินระดมทุนไม่สูงเท่าที่ควรจะได้รับ และราคาหุ้นที่ดี เหมือนในช่วงที่มีสภาพคล่องสูง เพราะสภาพคล่องคือหัวใจของการลงทุน และการระดมทุน รวมถึงการพัฒนาตราสารใหม่ๆ ก็จะทำได้ยากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการแข่งขันในระยะยาว ส่วนธุรกิจหลักทรัพย์สภาพคล่องหายไป การแข่งขันรุนแรงจะกลับมา ทำให้รายได้ได้รับผลกระทบ

สิ่งที่ตลาดหุ้นจะช่วยได้มากที่สุด คือ การทำให้รัฐบาลเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หากสามารถรักษาสภาพคล่องเอาไว้  ช่วยให้บริษัทเข้ามาระดมทุนกันมากขึ้น สุดท้ายแล้วประเทศชาติจะได้ประโยชน์ จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีปริมาณสูงกว่าภาษีขายหุ้น  ทั้งนี้หากมีการเก็บภาษีขายหุ้นจริง จะกระทบต่อเป้าหมายดัชนีที่คาดไว้ว่าจะมีโอกาสปรับขึ้นไปถึง 1,800 จุดสิ้นปีนี้ด้วย