ตลท.แฉปี’64 นักลงทุน Gen Y โต สถาบันวูบ ตปท.ใช้โปรแกรมเทรดสนั่น

HoonSmart.com>>ตลาดหลักทรัพย์เปิดผลวิจัย “พฤติกรรมการซื้อขายเชิงลึกปี 64” พบดัชนีหุ้นเพิ่มขึ้น ความผันผวนลดลง มูลค่าซื้อขายสูงเฉียด 1 แสนล้านบาท/วัน ฝีมือนักลงทุนไทย-ต่างชาติที่ใช้โปรแกรมเทรดเป็นหลัก หุ้นขนาดกลาง-เล็กฮอตให้ผลตอบแทนสูง สถาบันไทยมีบทบาทน้อยลงเหลือแค่ 7% เหตุกองทุนรวมหุ้นไทยไม่จูงใจเท่า FIF  จำนวนนักลงทุนใหม่ GEN Y มีสัดส่วนถึง 60% หน้าใหม่ 3 ใน 4 ยังคงซื้อขาย

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยออกผลงานวิจัย “พฤติกรรมการซื้อขายเชิงลึกในตลาดทุนไทย ปี 2564 ” เมื่อเดือนม.ค. 2565 โดยสรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นและมีความผันผวน (volatility) ลดลง กลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงช่วงก่อนมีโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563

ในปี 2564 ตลาดมีมูลค่าการซื้อขายสูงเฉลี่ย 93,846 ล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้นจากนักลงทุนเกือบทุกกลุ่ม โดยเฉพาะนักลงทุนรายบุคคลและต่างชาติที่ใช้โปรแกรมเทรด รวมถึงเพิ่มขึ้นจากหลักทรัพย์ทุกประเภท โดยกระจายออกนอก SET 50 มากที่สุดในรอบ 5 ปี หุ้นขนาดกลางและเล็กยังเป็นผู้นำในการให้ผลตอบแทนสูงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ทำให้นักลงทุนสนใจเข้าซื้อขายเพิ่มขึ้น เช่น หุ้นในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) มีสัดส่วน 5% เทียบกับปีก่อนที่ 2% ส่วนหุ้นนอก SET 100 เพิ่มเป็น 20% จาก 14% และ SET51-100 มีสัดส่วน 16% จาก 13% สำหรับ SET 50 เหลือสัดส่วน 47% เทียบกับปีก่อนมีสัดส่วน 60%

นักลงทุนทุกกลุ่มลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ลง โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันไทยที่ลดลงในเชิงมูลค่าซื้อขายด้วย เหลือสัดส่วนเพียง 7% ตามความนิยมในกองทุนรวมหุ้นไทยที่น้อยลง เพราะผลตอบแทนไม่จูงใจเท่ากองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ (FIF)

ทั้งนี้ ในปี 2560-2562 สถาบันไทยมีสัดส่วนการซื้อขาย 11% ในปี 2563 ลดลงเหลือ 10% และ 7% ในปี 2564 คิดเป็นมูลค่าการซื้อขาย 6,222 ล้านบาท ลดลงจำนวน 542 ล้านบาท 8.01% เทียบกับมูลค่าซื้อขายของปี 2563ที่ 6,764 ล้านบาท

ด้านกองทุนรวมหุ้นไทย ในส่วนที่ไม่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี ยังมีเงินไหลออกสุทธิ -28,304 ล้านบาท ต่อเนื่องจากปี 2563 ที่ไหลออก -42,860 ล้านบาท ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ากว่าต่างประเทศ ขณะที่กองทุนรวมหุ้น FIF มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงเกือบ 3 เท่า มูลค่ารวม 280,943 ล้านบาท โดดเด่นในกลุ่ม global large cap และ Chaina เทียบกับจำนวน 95,033 ล้านบาท และ 34,008 ล้านบาทในปี 2563 และ 2562 ตามลำดับ

สำหรับการใช้โปรแกรมเทรดดิ้ง โดยนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยเป็นผู้เล่นหลัก และสังเกตุว่ากระจายออกสู่หุ้นขนาดกลางเพิ่มขึ้นเช่นกัน

นักลงทุนไทยที่ใช้โปรแกรมเทรดหุ้นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 47% มูลค่าซื้อขายรวม 43,661 ล้านบาทต่อวัน เทียบกับปี 2563 ที่มีสัดส่วน 44% และมูลค่าซื้อขาย 29,956 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 46% ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างชาติที่ใช้โปรแกรมเทรดหุ้น มีสัดส่วน 22% มูลค่า 20,627 ล้านบาทต่อวัน เทียบกับปีก่อนมีสัดส่วน 18% มูลค่า 12,124 ล้านบาท และใช้โปรแกรมเทรด DW สัดส่วน 4% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 37% เป็น 3,477 ล้านบาทต่อวัน

นักลงทุนบุคคลที่มีธุรกรรมซื้อขายหุ้นเพิ่มเป็น 1 ล้านคนในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 โดย 1 ใน 4 เป็นบุคคลใหม่ ด้านมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นเกือบ 60% มาจากกลุ่ม Risk group เช่น ซื้อขายบ่อย ชอบ DW ชอบหุ้นเล็ก มีสภาพคล่องสูง รวมถึงกลุ่ม Heavy ซื้อขายเกือบทุกวันและเฉลี่ยมากกว่า 100 ล้านบาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม สังเกตุว่าสัดส่วนของการเก็งกำไรแบบเดย์เทรดไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ยังทรงตัวกับปีที่แล้ว ประมาณ 40% ของมูลค่าซื้อขายบุคคลทั้งหมด

ด้านนักลงทุนรายใหม่ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็น Gen Y (อายุ 25-41 ปี ) มีสัดส่วนประมาณ 60% ของจำนวนทั้งหมด หากคิดจากมูลค่าซื้อขายพบว่า ส่วนใหญ่มาจาก Gen Y& X โดยเฉพาะครึ่งแรกในปี 2564 เป็นครั้งแรกที่บุคคลใหม่จาก Gen Y เข้ามามีบทบาทในมูลค่าซื้อขายกว่า 54% มูลค่า 460 ล้านบาทต่อวัน และ Gen X ( อายุ 42-56 ปี) มีสัดส่วน 30% มูลค่า 256 ล้านบาทต่อวัน และนักลงทุนรายใหม่ขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มเข้ามาซื้อขาย มีแนวโน้มเพิ่มบทบาทมากขึ้นต่อเนื่องทั้งในตลาดหุ้นและ TFEX

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา 3 ใน 4 ของบุคคลใหม่ในตลาดหุ้นยังคงซื้อขายอยู่ในปัจจุบัน และครึ่งหนึ่งซื้อขายเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนตลาด TFEX จะน้อยกว่า โดยมีประมาณครึ่งหนึ่งที่ยังซื้อขายอยู่ถึงปัจจุบัน

นักลงทุนบุคคลเป็นผู้เล่นหลักในทุกประเภทสินค้าใน TFEX โดย SET 50 F และ Gold มีนักลงทุนหลากหลายและมี composition คล้ายกับตลาดหุ้นมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วน SSF มีลักษณะเป็นสินค้าของนักลงทุนในประเทศเป็นหลัก ส่วนตลาด TFEX มีบุคคลซื้อขายประมาณ 2.5 หมื่นคน โดย 2 หมื่นคนซื้อขายควบทั้ง 2 ตลาด