ดาวโจนส์ปิดบวก 564 จุด กลุ่มเทคโนโลยีฟื้น

HoonSmart.com>>ดัชนีดาวโจนส์ปิดบวก 564 จุด หลังจากที่ผันผวนทั้งสัปดาห์ จากการปรับขึ้นของหุ้นเทคโนโลยีรายใหญ่ เงินเฟ้อมากขึ้นนักลงทุนวิเคราะห์เฟดส่งสัญญานจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงติดต่อกันสัปดาห์ที่ 4 ส่วนดัชนี Nasdaq แทบไม่ขยับในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 28 มกราคม 2565 ปิดที่  34,725.47 จุด เพิ่มขึ้น 564.69 จุด หรือ 1.65%  หลังจากที่ผันผวนมาตลอดทั้งสัปดาห์ จากการปรับขึ้นของหุ้นเทคโนโลยีรายใหญ่ที่ได้แจ้งผลการดำเนินงาน แม้เงินเฟ้อสูงขึ้น
ดัชนี S&P 500 ปิดที่  4,431.85 จุด เพิ่มขึ้น 105.34 จุด, +2.43%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,770.57 จุด เพิ่มขึ้น 417.79 จุด, +3.13%
หุ้นแอปเปิลเพิ่มขึ้นราว 7% หลังรายงานยอดขายและกำไรไตรมาสสี่ดีกว่าคาด ขณะที่หุ้นไมโครซอฟต์ หุ้นแอมะซอน หุ้นเมตาแพลตฟอร์ม หุ้นอัลฟาเบทต่างปิดบวก หลังจากถูกเทขายมาตลอดสัปดาห์
หุ้นเชฟรอนลดลง 3% จากผลการดำเนินงานต่ำกว่าคาด หุ้นแคทเธอพิลลาร์ลบ 5% แม้กำไรสูงกว่าคาด
ในสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 1.3%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 0.8% จากที่สัปดาห์นี้ผันผวนสูงถึง 2.5% ระหว่างชั่วโมงซื้อขาย และดัชนี Nasdaq แทบไม่ขยับในสัปดาห์นี้
นักวิเคราะห์จาก BMO Wealth Management ระบุว่า การที่ระหว่างวันดัชนีเหวี่ยงได้สูง บ่งชี้ว่าความท้าทายที่ตลาดกำลังเจอ ซึ่งก็คือสภาวะการเงินกำลังตึงตัว เมื่อมีข้อมูลใหม่เข้า ตลาดก็ตอบสนองมากเกินไป ในทางใดทางหนึ่ง ความผันผวนในลักษณะนี้และการขึ้นลงที่เหวี่ยงมากจะมีต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ดัชนี Cboe Volatility Index ซึ่งเป็นมาตรวัดความผันผวนของตลาดพุ่งขึ้นไปที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 ซื้อเคลื่อนไหวที่ระดับเหนือ 30 ในต้นสัปดาห์
นักลงทุนยังคงวิเคราะห์การปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลาง (เฟด) หลังจากที่ส่งสัญญานเมื่อวันพุธว่า จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี
นักวิเคราะห์จากโกลด์แมนแซคส์ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ในสัปดาห์นี้การประชุมของเฟดรวมทั้งแถลงการณ์และการให้ความเห็นของนายเจอโรม พาวเวลล์มีผลต่อตลาด และวันศุกร์เงินเฟ้อที่สูงขึ้นก็ยิ่งตอกย้ำถึงการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดที่จะเข้มงวดขึ้น
กระทรวงพาณิชย์รายงาน  ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้น 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 1983 และเมื่อเทียบรายเดือน ปรับตัวขึ้น 0.5% ขณะที่รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.3%
ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 5.8% จากระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 1982 และเมื่อเทียบรายเดือนเพิ่มขึ้น 0.4%
มหาวิทยาลัยมิชิแกนรายงานผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนมกราคมลดลงมาที่ระดับ 67.2 ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2011  และต่ำกว่า 68.5 ที่นักวิเคราะห์คาด
ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง นำโดยกลุ่มเหมืองแร่ที่ลดลง 2.8% นักลงทุนวิตกทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลายประเทศ และเป็นการปิดลบติดต่อกันสัปดาห์ที่ 4 และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020
ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปนรายงาน GDP ไตรมาส 4 โดย GDP ฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น 0.7% ส่งผลให้ทั้งปี 2021 ขยายตัว 7% สูงสุดในรอบ 5 ทศวรรษ จากที่หดตัว 8%
ด้าน GDP เยอรมนีหดตัวมากกว่าคาด โดยติดลบ 0.7% จากไตรมาสก่อนหน้า ตลอดทั้งปี GDP ขยายตัว 2.8% ส่วนสเปน GDP ไตรมาสสี่เพิ่มขึ้น 2%
ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจรายเดือนที่สำรวจโดยคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเดือนมกราคมลดลงมาที่ 112.7
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 465.55 จุด ลดลง 4.78 จุด, -1.02%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่  ที่ 7,466.07 จุด ลดลง 88.24 จุด, -1.17%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,965.88 จุด ลดลง 57.92 จุด, -0.82%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,318.95 จุด ลดลง 205.32 จุด, -1.32%
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 21 เซนต์ ปิดที่ 86.82  ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 69 เซนต์ ปิดที่ 90.03 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล