นายกฯสั่งคลังป้องกันคริปโตฯลุกลาม BROOK ดิ่ง-คลังเดินหน้าเก็บภาษี

HoonSmart.com>>ระทึก! ผลประชุมเฟด 25-26 ม.ค. ชี้ชะตาหุ้นโลก-คริปโตฯ ตลาดคาดไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย นักลงทุนทิ้งเหรียญดิ่งหลุด 35,000 ดอลลาร์ หายไป 50% จากจุดสูงสุดปี 64 นายกฯ สั่งคลังศึกษาข้อมูลซื้อขายคริปโตฯ ป้องกันและลดผลกระทบเสียหายต่อคนจำนวนมาก ” BROOK” โดนเต็มเปา ทุ่มกว่า 1,000 ล้านบาทลงทุนปีก่อน “JTS” ถูกหางเลขขุดบิทคอยน์ คลังลั่นเดินหน้าเก็บภาษีกำไรคริปโตฯ ส่วนภาษีขายหุ้นกำลังศึกษา  

ในช่วงนี้ ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลดิ่งลงแรงอย่างรวดเร็ว ซื้อขายต่ำกว่า 35,000 ดอลลาร์สหรัฐ หายไปประมาณ 50% เมื่อเปรียบเทียบกับจุดสูงสุดตลอดกาลที่ 69,044 ดอลลาร์ หรือ 2.28 ล้านบาท ในวันที่ 10 พ.ย.2564 ส่วนหนึ่งเกิดจากโกลด์แมน แซคส์ คาดอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งในปีนี้ ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนทั่วไป รวมถึงบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ของไทยที่เข้าไปทำธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะบริษัท บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป (BROOK) ซึ่งเป็นบริษัทแรกๆที่กระโดดเข้าไปลงทุน นับตั้งแต่เดือนมี.ค.-ต.ค.2564 มียอดลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท ในคริปโตเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล ทำให้ราคาหุ้น BROOK ในวันที่ 24 ม.ค.2565 รูดลงแรง ปิดที่ 0.96 บาท ร่วง-0.11 บาทหรือ -10.28%นักวิเคราะห์คาดว่ายังมีโอกาสไหลลงต่อ ยังไม่แนะนำให้เข้าไปซื้อ รอจังหวะให้ราคาเหรียญดิจิทัลยืนได้ก่อน

ทั้งนี้ BROOK เปิดเผยพอร์ตลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี ณ วันที่ 29 ต.ค. 2564 โทเคนดิจิทัล และเงินล่วงหน้าสำหรับสัญญาซื้อขายโทเคนจำนวน 1,225 ล้านบาท ตามมูลค่าต้นทุน รวมถึงการลงทุนในระบบคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวน 17.31 บาท จากแผนลงทุนไม่เกิน 70 ล้านบาท โดยจะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติการลงทุนไม่เกิน 2,000 ล้านบาท แต่เลื่อนการประชุมออกไป

ส่วน บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น (JTS) ได้เข้าไปลงทุนขุดบิทคอยน์ (BITCOIN Mining) เมื่อราคาเหรียญลดลงแรง ก็พลาดโอกาสที่จะสร้างกำไรสูง กดดันราคาหุ้น JTS ปิดที่ 171 บาทติดลด 7 บาทหรือ -3.93%

สำหรับบจ.ที่ปลุกกระแสรับเหรียญเพื่อใช้ซื้อสินค้าหรือบริการ อาทิ SIRI, ANAN, ORI, ASW, MAJOR รวมถึงบริษัทที่ทำ ICO portal ทำหน้าที่คล้ายที่ปรึกษาทางการเงินในการตรวจสอบข้อมูลการออก ICO ของบริษัทที่เสนอขายโทเคน เช่น XPG  คาดจะได้รับผลกระทบทางจิตวิทยา

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มีข้อสั่งการก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (24 ม.ค.65) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ไปศึกษาข้อมูลการซื้อขายตลาดคริปโตเคอเรนซี เตรียมมาตรการดูแลป้องกันความเสียหาย และผลกระทบที่อาจจะมีต่อคนจำนวนมาก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังไม่มีนโยบายที่ยกเว้นภาษีกำไรจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ภาคเอกชนเสนอให้ยกเว้นไป 1-2 ปี เนื่องจากกรมสรรพากรได้เก็บภาษีมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาธุรกรรมยังไม่มากจึงไม่มีปัญหาในการจัดเก็บ แต่ในปี 2564 การซื้อขายเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้กรมสรรพากรต้องหาแนวทางการยื่นแบบของผู้เสียภาษีให้ถูกต้องและเกิดความสะดวกมากขึ้น

ส่วนการเก็บภาษีจากการขายหุ้นนั้น กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษา และรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะเกือบทุกประเทศในโลกมีการเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นทั้งนั้น เพียงแต่จะเก็บรูปแบบใดเท่านั้น โดยอาจเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเมื่อมีธุรกรรมซื้อขายเกิดขึ้น หรือเก็บเป็นภาษีอากรแสตมป์ หรือการเก็บจากส่วนกำไรจากการซื้อขายหุ้น ซึ่งในส่วนของประเทศไทยก็จะดูรูปแบบที่ทำให้การเก็บภาษีง่ายที่สุด

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนายพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน กล่าวว่า ประเทศส่วนใหญ่รวมถึงไทย เห็นว่าการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ ยังมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงิน และเสถียรภาพระบบการเงิน หากมีการใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีแนวทางการกำกับดูแลที่แตกต่างกันไป เช่น การห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการ, การกำกับดูแลผู้ให้บริการ และการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภท และการจำกัดปริมาณการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น

สำหรับแนวทางในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ ของธนาคารกลางแต่ละประเทศ ได้ 3 กลุ่มหลัก คือ
1. ประเทศที่ยอมรับและอนุญาตให้มีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ เช่น เอลซาวาดอร์

2. ประเทศที่อยู่ระหว่างการพิจารณานโยบายและหลักเกณฑ์การกำกับดูแล หากจะมีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ แต่ไม่ห้ามเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่สุด และไทยเองก็อยู่ในกลุ่มนี้  เช่น อินเดีย,มาเลเซีย,ฮ่องกง,สิงคโปร์,อังกฤษ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น และจะมีการแยกประเภทของเหรียญในการออกกฎเกณฑ์กำกับดูแล

3. ประเทศที่ไม่ยอมรับและไม่อนุญาตให้มีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ เช่น จีน  ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และอินโดนีเซีย

ธปท.ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบชำระเงิน เสถียรภาพระบบการเงิน และความเสียหายแก่สาธารณะ แต่ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น เพื่อออกเกณฑ์กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในเร็วๆ นี้

ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนบางราย มีการออกเหรียญคริปโทฯ ไปแล้ว ก็อาจจะต้องมีการปรับปรุง เพื่อให้เข้ากับหลักเกณฑ์ที่กำลังจะออกมาในเร็วๆ นี้ และคงต้องมีช่วงเวลาเพื่อให้ปรับตัว ส่วนกรณีของธนาคารพาณิชย์นั้น ธปท.เคยมีหนังสือเวียนถึงแนวทางปฏิบัติไปก่อนหน้านี้แล้ว ว่าการจะลงทุนหรือเข้าไปเก็งกำไรในคริปโทฯ ไม่สามารถทำได้ เพราะถือว่าเป็นการนำเงินฝากของประชาชนไปเสี่ยง แต่หากเป็นการนำไปลงทุนในส่วนที่เกี่ยวกับการต่อยอดหรือพัฒนานวัตกรรมก็สามารถทำได้ รวมทั้งมีเพดานสำหรับการลงทุนในธุรกิจที่เป็นฟินเทคไว้แล้ว

ด้านตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตามต่างประเทศ ดัชนีปิดที่ 1,640.54 จุด ลดลง-12.19 จุดหรือ -0.74% มูลค่าการซื้อขาย 76,905.52 ล้านบาท อย่างไรก็ตามนักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิ 2,205.75 ล้านบาท นักลงทุนไทยซื้อ 1,243.10 ล้านบาท สวนทางกองทุนไทยขาย -2,451.80 ล้านบาท

ตลาดที่ปรับตัวลงแรง มาจากกลุ่มพลังงาน นำโดย PTTEP กลุ่ม อิเล็กทรอนิกส์  DELTA ร่วง -5.36% หรือ 21 บาท ปิดที่ 371 บาท รวมถึงหุ้นเทค ที่ได้รับกระทบจากดัชนี Nasdaq และมีการขายหุ้นกลุ่มเดินเรือ ดัชนีค่าระวางเรือร่วลงมากกว่า 36% ปีนี้คาดกำไรผ่านจุดพีคไปแล้ว ขณะที่มีแรงซื้อกลุ่มรถ EV นำโดย EA คาดหวังที่ประชุมครม.วันนี้ จะออกมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็ไม่ได้พิจารณาวาระนี้ มีเพียงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น เช่นอนุมัติกรอบวงเงิน 9,000 ล้านบาทโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 4 เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ค.2565 ปรับเงื่อนไข “ทัวร์เที่ยวไทย” และโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 คนละ 1,200 บาท เริ่มวันที่  1 ก.พ.นี้