Metaverse กับโอกาสลงทุนที่เปิดกว้างในเอเชีย


โดย…พฤกษา เอี่ยมธงทอง
ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย, อเบอร์ดีน กรุ๊ป

 
 
 
Metaverse อาจไม่มีคำจำกัดความที่แน่ชัดว่าคืออะไร บ้างก็มองว่าคือแนวคิดของบริการอินเทอร์เน็ตรุ่นที่ 3 หรือว่า “เว็บ 3.0” ที่จะเชื่อมโยงผู้คน สเปส (space) และทรัพย์สินในโลกทางกายภาพเข้าด้วยกัน บ้างก็ว่ามัน คือ โลกเสมือนจริงเต็มรูปแบบที่เราสามารถทำงาน เล่น ช้อป ไปดูคอนเสิร์ต ดูหนัง หรือท่องเที่ยวได้

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ต้องการสร้างโลกเสมือนจริงภายใต้คอนเซปนี้ขึ้นมา โดย Meta บริษัทเดิมชื่อ Facebook ได้ประกาศจะจ้างพนักงานประมาณ 10,000 คนในยุโรปในช่วงห้าปีจากนี้ เพื่อสร้างแพลตฟอร์ม Metaverse ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์สำคัญขององค์กร และเป็นที่มาของการเปลี่ยนชื่อบริษัท อีกทั้งยังได้เปิดตัวแอปการประชุมเสมือนจริง (VR) ที่เรียกว่า ‘Workplace’ และพื้นที่โซเชียลที่เรียกว่า ‘Horizons’ ซึ่งทั้งสองแพลตฟอร์มต่างใช้ avatar หรือภาพแทนตัวตนของผู้ใช้ในโลกดิจิทัล เช่นเดียวกับ Microsoft ก็กำลังมองหาการสร้าง Metaverse สำหรับองค์กร โดยเบื้องต้นจะเน้นไปที่การพัฒนาสำนักงานเสมือนก่อน ซึ่งการที่จะทำให้โลกเสมือนเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการพัฒนาฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และโครงสร้างพื้นฐานมารองรับ

ปัจจุบันเรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาและต้องใช้ศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีมากมาย ซึ่ง อเบอร์ดีน มองเห็นโอกาสเหล่านี้ในเอเชียดังนี้

Hardware – เราเห็นการเข้าถึงแพลตฟอร์มเสมือนที่เริ่มเปลี่ยนจากมือถือและแล็ปท็อป ไปสู่อุปกรณ์อย่างชุดหูฟังและแว่นตา VR เนื่องจากราคาที่ถูกลงและคุณภาพต่อประสบการณ์เสมือนจริงที่ดีขึ้น ซึ่งบริษัทในเอเชียจะมีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานและการประกอบอุปกรณ์เหล่านี้

Infrastructure support – โครงสร้างพื้นฐานมีความสำคัญมากที่จะทำให้ค่าที่จะเป็นตัววัดความเร็วจากการใช้เวลารับส่งข้อมูล หรือที่เราเรียกว่า latency รวมถึงคุณภาพของภาพและการเรนเดอร์เป็นไปแบบเรียลไทม์ ซึ่งจำเป็นต้องต้องใช้ชิปที่ทรงพลังมาก และใช้พื้นที่เก็บข้อมูลบนcloud ที่มากขึ้น และ Edge Computing ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลต่อความต้องการชิปเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ที่เพิ่มขึ้น เม็ดเงินลงทุน Cloud เซิร์ฟเวอร์ (Server) ส่วนประกอบ และศูนย์ข้อมูล (DC) โดยเฉพาะ Edge Computing และ Edge DC ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นผลดีต่อบริษัทต่างๆ เช่น TSMC บริษัทผลิตชิประดับโลก ของไต้หวัน เช่นเดียวกับ บริษัท Server และตลอดทั้ง Supply Chain ในไต้หวัน

Virtual platforms – เราคาดว่าการเติบโตของแพลตฟอร์มเสมือนในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ทั้งแบบรวมศูนย์และไม่รวมศูนย์ โดยผู้เล่นทั้งอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ แบรนด์ต่างๆ และเกมแพลตฟอร์มพร้อมจะลงทุนเพื่อให้มีความเกี่ยวข้องและเชื่อมต่อกับผู้บริโภคกลุ่มอายุน้อยลง เรามีแนวโน้มที่จะเห็นการจ่ายโฆษณาขยายไปสู่พื้นที่ดิจิทัลมากขึ้นในแง่ของการสร้างแบรนด์ตลอดจนเนื้อหาต่างๆที่เพิ่มขึ้น เพื่อเติมเต็มประสบการณ์ของผู้บริโภคผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่นคอนเสิร์ตเสมือนจริง สิ่งนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับเจ้าของเกม เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา (IP) และ เจ้าของลิขสิทธิ์ความบันเทิงเช่นภาพยนตร์และเพลง การสร้างคอนเทนท์จะเป็นกุญแจสำคัญ

ขณะที่ประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะสร้าง ecosystem ของตนเอง ซึ่ง Tencent มีโอกาสที่จะเป็นผู้ชนะบนเวทีนี้หากรัฐบาลยอมปล่อยให้เกิดการครองตลาดขึ้น โดย Tencent มีส่วนผสมที่ลงตัวของแพลตฟอร์มโซเชียลและเกม โครงสร้างพื้นฐานบน cloud และ IP ที่หลากหลายในหลายหมวดหมู่ เช่น เพลง เกม และความบันเทิง เพื่อตัวเองกลายเป็นผู้เล่นหลักในพื้นที่นี้ Tencent ยังลงทุนใน Epic Games ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีเอ็นจิ้นเกมที่เรียกว่า Unreal Engine ซึ่งเป็นพลังของเกมอย่าง Fortnite นอกเหนือจากการเจาะตลาดผู้บริโภคแล้ว Tencent อาจสร้างโลกเสมือนจริงเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าขององค์กรบนแพลตฟอร์ม Tencent Meeting

ในส่วนของเกาหลี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งผู้นำในเอเชีย โดย Naver ผู้ให้บริการ Search Engine ขนาดใหญ่ของเกาหลีที่มีผู้ใช้ประมาณ 240 ล้านคน เป็นแหล่งศูนย์รวมด้านทรัพย์สินทางปัญญาและเนื้อหา ครอบคลุมธุรกิจบันเทิง เช่น K-pop, เว็บตูน และเกม ด้านรัฐบาลเกาหลีเองก็ให้การสนับสนุนการจัดตั้งพันธมิตร Metaverse ขณะที่แบรนด์ใหญ่เช่น Samsung และ Hyundai ต่างก็กำลังสร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัลและโฆษณาบนแพลตฟอร์ม Zepeto ซึ่งสามารถเข้าไปสร้างคาแรกเตอร์เสมือนจริงแบบ 3 มิติได้ นอกจากนี้เรายังเห็นระดับกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นของบริษัทเกมเช่น Com2uS, WeMadeและแม้แต่บริษัทเกมอย่าง SK Telecom

เราคาดว่า Metaverse จะเติบโตและพัฒนาไปไกลกว่าเพียงแค่โลกแห่งจินตนาการที่ถูกมองไว้เมื่อสองทศวรรษที่แล้ว การเดินทางครั้งนี้จะเปลี่ยนวิธีที่เราเชื่อมโยงและโต้ตอบกันกับโลกรอบตัวเราไปเลย เหมือนครั้งที่อินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นมา

***หมายเหตุ บริษัทที่นำมายกตัวอย่างในบทความเพื่อจุดประสงค์ในการอธิบายและแสดงรูปแบบการจัดการการลงทุนเท่านั้น และไม่ใช่เพื่อเป็นการแนะนำการลงทุนหรือบ่งชี้ประสิทธิภาพของบริษัทในอนาคต

บทความนี้เป็นการแปลเนื้อหาบางส่วนจาก abrdn 2022 Global Outlook สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมฉบับเต็มได้จากเอกสารแนบ หรือบนเว็บไซด์ www.abrdn.com/en/thailand/insights-thinking-aloud

ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน