10 แบงก์ฟาดกำไร 1.8 แสนลบ.ปี’64 โต 32% ลดสำรอง

HoonSmart.com>>ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง เปิดกำไรสุทธิปี 2564 รวมทั้งสิ้น 182,938.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44,635.89 ล้านบาท หรือ  32.27%  จากปี 2563 ธนาคารเกือบทุกแห่งมีกำไรดีขึ้น ยกเว้น LHFG ที่ลดลง 32.73% เหลือเพียง 1,383.72 ล้านบาท เพราะเร่งตั้งสำรองฯ จนขาดทุนไตรมาส 4 สวนทางกับธนาคารส่วนใหญ่ที่ลดการตั้งสำรอง หลังจากตุนไว้มากแล้วและมองแนวโน้มดีขึ้น ทำให้กำไรปี 2564 ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์

ในปี 2564 ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เป็นแชมป์มีกำไรสุทธิสูงที่สุดจำนวน 38,052.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.05% ส่วนหนึ่งเกิดจากการลดสํารองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ( ECL) จำนวน 3,216 ล้านบาท หรือ 7.38% เหลือจำนวน 40,332 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อเติบโต ทำให้มีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 7,822 ล้านบาท หรือ 6.13% แต่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 1,910 ล้านบาท หรือ 4.17% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลง แม้ว่าค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น  2,312ล้านบาท หรือ7.01% หลักๆ จากค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน และค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์  ด้านกำไรเฉพาะไตรมาส 4 ทำได้จำนวน 9,901.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.72% เทียบกับไตรมาสที่ 3

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีกำไรสุทธิมากเป็นอันดับที่สอง จำนวน 35,599 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.79% จากปีก่อน แต่ไตรมาส 4 มีกำไรสุทธิ 7,878.56 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 3 ประมาณ -10.65%

กำไรที่ดีขึ้นในปี 2564 มาจากการตั้งสำรองจำนวน 42,024 ล้านบาท ลดลง 9.9% จากปีก่อน แม้มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นปี 64 อยู่ที่ 3.79% เพิ่มขึ้นจาก 3.68% ในปีก่อน

ขณะเดียวกัน รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้น 15.3% เป็น 55,171 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการรับรู้กำไรตามราคาตลาดของพอร์ตการลงทุน และการขยายฐานรายได้ที่แข็งแกร่งของธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งและธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคาร แต่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 95,171 ล้านบาท ลดลง 1.8% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิลดลงภายใต้สภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและการมุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่อที่มีคุณภาพ

ส่วนแนวโน้มในปี 2565 SCB ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 3-5% ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ 2.9-3.0% ส่วนรายได้ที่ใช่ดอกเบี้ย เติบโตตัวเลขหลักเดียวในระดับต่ำ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ 40% ต้น ๆ ถึงกลาง ๆ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่ำกว่า 4%

ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีกำไรสุทธิมากเป็นอันดับที่สาม จำนวน 33,794.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้้น 46.68% จากปีก่อน มีปัจจัยหลักคือกำไรพิเศษจากการขายหุ้น บริษัท เงินติดล้อ ในไตรมาสที่ 2 หากไม่รวมรายการพิเศษ กำไรสุทธิอยู่ที่ 25,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,569 ล้านบาท หรือ 11.1%จากปี 2563

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีกำไรมากเป็นอันดับที่สี่ จำนวน 26,507.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 54.28% จากปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 6.6% เป็นผลจากการรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพอร์มาตาเต็มปีและการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 25.7% ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากธุรกิจหลักทรัพย์ การอำนวยสินเชื่อและบริการประกันผ่านธนาคารและกองทุนรวม รวมถึงการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด   โดยธนาคารได้ตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 34,134 ล้านบาทในปี 2564

นักวิเคราะห์บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) ยังคงแนะนำซื้อหุ้นธนาคารกรุงเทพ  หลังรายงานกำไรไตรมาส 4 จำนวน 6,318 ล้านบาท โตเด่น 163.5% จากปีก่อน แต่ลดลง 8.6% จากไตรมาส 3 ต่ำกว่าที่หยวนต้าและตลาดประเมิน ปัจจัยกดดันหลักๆ มาจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 21.8% เทียบกับไตรมาส 3 ส่วนหนึ่งมาจากค่าใช้จ่ายพนักกงานที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและปรบปรุงระบบงานไอที เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม คาดกำไรสุทธิปี 2565 จำนวน 32,673 ล้านบาท เติบโต 23.3% ฟื้นตัวจากสินเชื่อโดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบริษัทขนาดใหญ่ที่เริ่มเห็นการกลับมาจากลงทุนในโครงการใหญ่ ๆ และรายได้ค่าธรรมเนียมปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการขายประกันภัยและประกันชีวิต คาดการตั้งสำรองจะผ่อนคลายลงไม่สูงเท่ากับปี 2563-2564

ขณะที่ราคาหุ้นมี upside 17.4% จากมูลค่าพื้นฐานเดิมปี 2565 ที่ 155 บาทและคาดให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลอีก3.2% จากกำไรครึ่งปีหลัง