TTB กำไร Q4/64 เฉียด 2.8 พันล. โต 127% หนุนทั้งปีทะลุ 1 หมื่นล.

HoonSmart.com>> HoonSmart.com>> “ธนาคารทหารไทยธนชาต” โชว์กำไรไตรมาส 4/64 อยู่ที่ 2,799 ล้านบาท พุ่ง 126.6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน หนุนทั้งปี 64 กำไรสุทธิ 10,474 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากงวดปีก่อน หลังตั้งสำรองหนี้ลดลง

ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) เปิดเผยว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิงวดปี 2564 จำนวน 10,474.04 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.1086 บาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากงวดปี 2563 มีกำไรสุทธิ 10,112.18 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.1049 บาท ขณะที่งวดไตรมาส 4/2564 กำไรสุทธิ 2,799 ล้านบาท เติบโต 18.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในงวดไตรมาส 4/2564 ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 12,769 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลง 5.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) อยู่ที่ 2.98% เพิ่มขึ้น 3 bps จาก 2.95% ไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลง 8 bps จาก 3.06% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งการลดลงส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั ้งและอัตราผลตอบแทนเงินให้สินเชื่อลดลง ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย มีจำนวน 3,739 ล้านบาท ลดล 16.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงของรายได้ ค่าธรรมเนียมกองทุนรวมและรายได้ค่าธรรมเนียมแบงก์แอสชัวรันส์จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ

นอกจากนี้ธนาคารได้ตั้งสำรอง (ECL) เป็นจำนวน 5,017 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อที่ 146 bps ซึ่งลดลง 9.2% จากไตรมาสก่อนหน้าและ 39.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ถึงแม้ว่า ECL จะลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าและปีก่อน ระดับของสำรองนี้สะท้อนรูปแบบการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบของธนาคาร ภายใต้แนวปฏิบัติของธนาคารแห่งประเทศไทย และหลักเกณฑ์ในการประเมินความเสี่ยงของสินเชื่อภายใต้มาตรการความช่วยเหลือที่เข้มงวดของธนาคาร

สำหรับงวดปี 2564 ตั้งสำรองอยู่ที่ 21,514 ล้านบาท ลดลง 13.4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ธนาคารยังคงตั้งสำรองในระดับสูงภายใต้แบบจำลอง ECL ที่พิจารณาถึงความเสี่ยงในอนาคต เพื่อรักษาระดับเงินกองทุนที่เพียงพอ พร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต รวมถึงผลกระทบจากมาตรการช่วยเหลือที่จะสิ้นสุดในปีนี้

ด้านรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในปี 2564 มีจำนวน 51,000 ล้านบาท ลดลง 5.2% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง และการชะลอตัวของสินเชื่อ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 6.5% อยู่ที่ 14,537 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ และมี NIM อยู่ที่ 2.97% ลดลง 3 bps จาก 3.00% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากการลดลงของอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ การปรับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (EIR) และภาวะอัตราดอกเบี้ยขาลง

ณ สิ้นเดือน ธ.ค.2564 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับสุทธิตามงบการเงินรวมจำนวน 1,325 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% จากสิ้นเดือน ก.ย.2564 แต่ลดลง 1.7% จากสิ้นปี 2563

ด้านสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ ตามงบการเงินรวมอยู่ที่ 42,121 ล้านบาทซึ่ง ลดลงจาก 44,411 ล้านบาท ณ สิ้นเดือน ก.ย.2564 แต่เพิ่มขึ้นจาก 39,594 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL ratio) ตามงบการเงินรวมอยู่ที่ 2.81% ลดลงจากสิ้นเดือน ก.ย.2564 แต่เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 ที่อยู่ 2.50%

นอกจากนี้ธนาคารมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามงบการเงินรวมจำนวน 54,472 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% จากสิ้นปี 63 เนื่องจากมีการตั้งสำรองเพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต สะท้อนการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบของธนาคาร