ตลาดเงินผันผวน ดอลลาร์แข็ง เงินเฟ้อโต บอนด์ยิลด์สหรัฐพุ่งเกือบแตะ3% น้ำมันทะยาน75 ดอลลาร์ ผวาเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าทืี่คาด
เช้าวันที่ 24 เม.ย.2561 ค่าเงินบาทเปิดตบาดที่ระดับ 31.56บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากวันก่อนที่ 31.49 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ โดย ดอลลาร์ Index อยู่ที่ระดับ 90.95 จุด สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม เงินยูโรอ่อนค่าลมาที่ระดับ 1.22 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินเยนอ่อนค่าขึ้นไปแตะระดับ 108.72 เยน/ดอลลาร์
ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่พุ่งขึ้นใกล้แตะระดับ 3% เมื่อคืนนี้ โดยพันธบัตรประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 2.96% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2557 ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2551
“เมื่อคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินผันผวน ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นแตะระดับ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและบอนด์ยิลด์สหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 3% อีกครั้ง ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เงินเฟ้อในสหรัฐที่เกิน 2% ต่อเนื่องเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย และหนุนบอนด์ยิลด์สหรัฐ “
ทั้งนี้ การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินพุ่งขึ้นตามไปด้วย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับอัตราเงินกู้จำนอง และอัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ และเครื่องมือทางการเงินในระบบ
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองเพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 5.60 ล้านยูนิต จากระดับ 5.54 ล้านยูนิตในเดือนก.พ. ขณะที่ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ดีดตัวสู่ระดับ 54.8 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน หลังจากแตะ 54.2 ในเดือนมี.ค.
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือนก.พ.โดยเอสแอนด์พี/เคซ-ชิลเลอร์, ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.จาก Conference Board, ยอดขายบ้านใหม่เดือนมี.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนมี.ค., ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมี.ค., ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2561 และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน