บลจ.ธนชาต เชื่อเงินลงทุนในกองตราสารหนี้มีทางเลือกไม่มาก เพราะรับความเสี่ยงได้น้อย บางส่วนอาจจะเข้ากองอสังหา-อินฟราฟันด์ ลุ้นโยกกลับเงินฝาก ได้จังหวะดอกเบี้ยขาขึ้นธนาคารระดมเงินฝาก
นายโชติช่วง ธีรขจรโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์มหภาค บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนชาต ประเมินว่า หลังจากกองทุนต้องภาษีรายได้จากตราสารหนี้ 15% เงินลงทุนในกองทุนตราสารหนี้บางส่วนจะขยับไปลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราฟันด์) เพราะมีความเสี่ยงใกล้เคียงกับตราสารหนี้มากกว่ากองทุนหุ้น
“แต่เงินที่อยู่ในกองทุนตราสารหนี้มีเยอะมาก เพราะฉะนั้นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน คงจะรองรับได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น แม้แต่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFFIF) มีขนาด 4.5 หมื่นล้านบาท ถือว่าเล็กมากเมื่อเทียบกับเงินในกองทุนตราสารหนี้” นายโชติช่วง กล่าว
ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ณ วันที่ 31 ก.ค. 2561 มูลค่าสินทรัพย์สุทธิกองทุนตราสารหนี้อยู่ที่ 2.53 ล้านล้านบาท ขณะที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 1.51 แสนล้านบาท และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอยู่ที่ 3.01 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ นายโชติช่วง ประเมินอีกว่า นักลงทุนอาจจะโยกเงินกลับไปเงินฝาก หากอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าผลตอบแทนจากกองทุนตราสารหนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในขาขึ้น ซึ่งอาจทำให้ธนาคารเริ่มกลับมาระดมเงินฝาก เตรียมไว้สำหรับการปล่อยสินเชื่อ
“นักลงทุนกองทุนตราสารหนี้รับความเสี่ยงได้น้อย และมองหาผลตอบแทนที่มั่นคงและต่อเนื่อง ทำให้มีทางเลือกลงทุนไม่มาก ขณะที่ตราสารหนี้ต่างประเทศก็มีให้เลือกลงทุนไม่มากนัก ในปัจจุบันกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศออกไปลงทุนเพียงแค่ 3 ประเทศเท่านั้น เพราะฉะนั้นเงินจำนวนนี้ไม่รู้จะหนีไปไหน” นายโชติช่วง กล่าว
นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ธนชาต กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ ต้องรอดูที่อัตราผลตอบแทนหลังถูกเก็บภาษีแล้วว่าจะเหลือเท่าไร ซึ่งอาจจะมีตราสารหนี้บางกองที่น่าสนใจอยู่ แม้จะได้ผลตอบแทนลดลงเมื่อเทียบกับก่อนหน้าที่ยังไม่ได้เก็บภาษี
“แต่ถ้าผลตอบแทนออกมาแล้วไม่น่าสนใจคงจะเห็นเงินเริ่มหมุนไปลงทุนในที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า พอหมุนไปหมุนมาเงินจะปรับสมดุล ซึ่งหากต้องการความเสี่ยงใกล้เคียงกัน ลูกค้าน่าจะเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝาก ถ้าผลตอบแทนยังชนะดอกเบี้ยอยู่ แต่อาจจะชนะน้อยลง หรือ แพ้นิดหน่อยลูกค้าก็อาจจะอยู่ในกองทุนต่อไป แต่ถ้าแพ้เยอะลูกค้าก็คงจะโยกเงินออกไป” นายบุญชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายบุญชัย กล่าวว่า การเก็บดอกเบี้ยรายได้จากตราสารหนี้ถือเป็นผลกระทบทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งคงมีการปรับสมดุลช่วงเวลาหนึ่ง
“ลูกค้ากองทุนตราสารหนี้ คงมีไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่จะขยับมาลงทุนหุ้น และถ้าจะไปกองทุนอสังหาริมทรัพย์และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด เงินมันใหญ่มาก รับไม่ไหว” นายบุญชัย กล่าว
อ่านประกอบ
กองทุนหนาว! ครม.ไฟเขียวภาษีตราสารหนี้ 15% เล็งยกเว้นให้ RMF-PVD
รัฐบาลเดินเครื่องกองโครงสร้างพื้นฐานยื่นไฟลิ่งระดมทุนให้ กทพ.