กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFFIF) ยื่นคำขออนุมัติและร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ขายหน่วยลงทุนต่อประชาชนครั้งแรก ชูจุดเด่นเข้าลงทุนครั้งแรกในสิทธิในการรับรายได้ของค่าผ่านทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่ร้อยละ 45 ของรายได้ค่าผ่านทางรวมที่จัดเก็บได้จากทางพิเศษ เป็นระยะเวลา 30 ปี กทพ.นำเงินใช้ก่อสร้างทางพิเศษใหม่ ขยายโครงข่ายทางพิเศษให้ครอบคลุม
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การจัดตั้งThailand Future Fund หรือ TFFIF เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลในการเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยการระดมทุนจากประชาชนทั่วไปผ่านกลไกของตลาดทุน เพื่อนำเงินที่ได้มาพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้เร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การระดมทุนด้วยวิธีการดังกล่าวจะแบ่งเบาภาระการคลังของภาครัฐในการพึ่งพาเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินกู้ ซึ่งมีจำนวนจำกัด รวมทั้งไม่ต้องรอการสะสมรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่ง TFFIF ยังเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้มีเงินออมหรือผู้ลงทุนที่สนใจสามารถเข้าลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่มีคุณภาพได้ด้วย
นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. เพิ่มเติมว่า TFFIF จัดตั้งขึ้นภายใต้หลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยในการลงทุนครั้งแรก TFFIF จะเข้าลงทุนในสิทธิในการรับรายได้ค่าผ่านทางพิเศษที่ร้อยละ 45 ของรายได้ค่าผ่านทางรวมที่จัดเก็บได้จากทางพิเศษที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน 2 เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี รวมระยะทางทั้งสิ้น 83.2 กิโลเมตร เป็นระยะเวลา 30 ปีนับจากวันที่กองทุนเข้าทำสัญญากับ กทพ. ทั้งนี้ กทพ. ยังคงเป็นผู้บริหารจัดการและเป็นเจ้าของทางพิเศษดังกล่าวอยู่
นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า สำหรับทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีที่ TFFIF เข้ามาลงทุนนั้น เป็นทางพิเศษที่มีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาจราจรและช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยทางพิเศษฉลองรัชมีระยะทาง 28.2 กิโลเมตร เริ่มจากจุดเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (บริเวณจตุโชติ) มุ่งหน้าเข้าเมือง ผ่านถนนสุขาภิบาล 5 รามอินทรา ลาดพร้าว พระราม 9 สุขุมวิท 50 เชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครบริเวณอาจณรงค์
ส่วนทางพิเศษบูรพาวิถีมีระยะทาง 55 กิโลเมตร ถือว่าเป็นทางพิเศษยกระดับที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีจุดเชื่อมต่อปลายทางพิเศษเฉลิมมหานคร (บริเวณบางนา) มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ผ่านบางพลี บางบ่อ บางสมัคร ข้ามแม่น้ำบางปะกงไปสิ้นสุดบริเวณก่อนถึงทางเลี่ยงเมืองชลบุรี นับเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพไปยังนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง
ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ กทพ. จะนำไปใช้ลงทุนพัฒนาทางพิเศษ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในย่านพระราม 3 และดาวคะนอง ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และเป็นการแบ่งเบาภาระทางการคลัง
ผู้อำนวยการ สคร. แจ้งว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 TFFIF ได้ยื่น Filing ให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะมีการกำหนดวันที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อหน่วยลงทุนโดยเร็วภายหลังจากสำนักงาน ก.ล.ต. อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนแล้ว โดยรูปแบบการจัดสรรหน่วยลงทุนในส่วนของผู้ลงทุนทั่วไปเป็นวิธี Small Lot First ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนที่สนใจมีสิทธิ์จองซื้อหน่วยลงทุนและได้รับการจัดสรรอย่างเป็นธรรม