กูรูการเงิน-คริปโตเคอเรนซี่ แนะนำภาครัฐร่วมมือเร่งให้ความรู้เท่าทันโลกยุคดิจิทัล ป้องกันเป็นเหยื่อกลโกงที่อาศัยสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเครื่องมือ เพราะแค่มีกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่ใช่การแก้ปัญหาถ้าคนไทยยอมถูกหลอก กล้าเสี่ยงเพราะอยากได้กำไรระยะสั้น
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวในงาน “ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจกับการต่อต้านอาชญากรรมในยุคดิจิทัล: อาชญากรรมกับคริปโตเคอเรนซี่” จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรม (TIJ) ร่วมกับ สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค (UNODC) ว่า แม้ประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล แต่ไม่ได้ทำให้อาชญากรรมในยุคดิจิทัลลดลง
“ถ้าจะให้ประชาชนสู้กับอาชญากรรมในยุคดิจิทัลได้ ต้องเร่งติดอาวุธความรู้เรื่องการเงิน การออม และให้ความรู้เท่าทันโลกยุคดิจิทัล (Digital Intelligent) โดยอาจจะบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียน ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างการตื่นรู้ด้านดิจิทัล เพราะไม่ใช่แค่ใช้ Line ใช้ Facebook เป็นแล้วจะเรียกว่ามีความรู้เท่าทันโลกยุคดิจิทัล” นายปริญญ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายปริญญ์ กล่าวอีกว่า หากคนใช้เทคโนโลยีเป็นแต่ไม่มีวินัยทางการเงิน จะยอมถูกหลอก กล้าเสี่ยง เพราะอยากได้กำไรในระยะสั้น ซึ่งอาชญากรรมในยุคดิจิทัลมีวิธีการไม่ต่างจากการฉ้อโกงในรูปแบบเดิมๆ ในอดีต เช่น การปลอมใบหุ้น
“กรณีของ Bitcoin King (คดีฟอกเงินบิทคอยน์ 797 ล้านบาท) ก็ใช้วิธีการยุค 0.4 ทั้งๆ ที่ยุคนี้เป็นยุค 4.0 แล้ว” นายปริญญ์ กล่าว
ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Blockchain-Cryptocurrency กล่าวว่า การเกิดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์กับประชาชนก็จะเป็นประโยชน์กับมิจฉาชีพด้วย เช่นเดียวกับการเกิด Internet ที่เป็นช่องทางการสื่อสาร ซึ่งมิจฉาชีพก็นำมาเป็นช่องทางการหลอกลวงประชาชนด้วย
“Internet ก็มีปัญหา ทำให้เกิดการหลอกลวงได้ง่าย และเราก็ไม่เคยแก้ปัญหา Phishing (การส่งข้อมูลหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตเพื่อขอข้อมูลที่สำคัญเช่น รหัสผ่าน หรือหมายเลขบัตรเครดิต) ขณะที่การหลอกลวงในยุคดิจิทัลที่นิยมมาก คือ ICO ซึ่ง 50-70% จะถูกเชิดเงินหนี มีทั้งระดมเงินไปแล้วทำไม่สำเร็จ ระดทุนไปแล้วเงียบหายไป หรือ ได้เงินแล้วก็หนีไปเลย ซึ่งหน่วยงานรัฐต้องไปดูว่า จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร” ดร.ภูมิ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ดร.ภูมิ กล่าวว่า การมี พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล แม้จะไม่ได้ลดปัญหาอาชญากรรมที่อาศัย Cryptocurrency ลดลง “แต่จะทำให้คนที่ต้องการทำธุรกิจโดยสุจริตมีที่พึ่ง”
นายปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้ง Zcoin และ TDAX Cryptocurrency Exchange กล่าวเช่นเดียวกันว่า “ต่อให้มีกฎหมายมาควบคุม แต่คนที่ต้องการจะโกงก็จะหาวิธีโกงได้อยู่ดี และคนที่ตั้งใจใช้ Cryptocurrency ในการก่ออาชญากรรมส่วนใหญ่ก็จะไปทำกันนอก Exchange เพราถ้าทำผ่าน Exchange จะตรวจสอบได้”