HoonSmart.com>> บอร์ด “โกลบอล คอนซูเมอร์” ไฟเขียวเซ็นสัญญาซื้อหุ้น “พงษ์ศรา-แมนูแฟคเจอริ่ง และพงษ์ศรา ดิสทริบิวชั่น” สัดส่วน 70% ดำเนินธุรกิจ “ลูกชิ้นทิพย์ ลูกชิ้นหมู ไส้กรอก” ใช้เงินลงทุนไม่เกิน 590 ล้านบาท หวังขยายสินค้าให้หลากหลาย เพิ่มมูลค่าธุรกิจ ความสามารถแข่งขัน คาดโอนกรรมสิทธิ์จบภายใน 28 ก.พ.65 พร้อมรับรู้รายได้ทันที
บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ (GLOCON) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2564 ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ เข้าลงทุนซื้อ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท พงษ์ศรา-แมนูแฟคเจอริ่ง (PSM) และบริษัท พงษ์ศรา ดิสทริบิวชั่น (PSD) รวมถึงการเข้าลงนามในสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 28 ธ.ค.2564 ใช้เงินลงทุนรวมไม่เกิน 590 ล้านบาท โดยซื้อจากบริษัท เฟย์สมิท คอมเมอเชียล (Faysmith) และบริษัท ลี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ (L&A) ในสัดส่วน 70% ของ PSM และ PSD ซึ่งทั้งสองบริษัทไม่ได้เป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทฯ
บริษัทฯ จะเข้าซื้อหุ้น PSM ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสุกร เนื้อไก่ผลิตภัณฑ์ของ PSM ได้แก่ ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นเอ็น ไส้กรอก น้ำจิ้มลูกชิ้น โดยบริษัทฯ จะเข้าซื้อหุ้น PSM จำนวนรวม 1,050,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท โดยซื้อหุ้นจาก Faysmith จำนวน 735,000 หุ้น และซื้อหุ้นจาก L&A จำนวน 315,000 หุ้น รวม 70%
นอกจากนี้บริษัทฯจะเข้าซื้อหุ้นสามัญ PSD ประกอบกิจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสุกร เนื้อไก่ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ลูกชิ้นทิพย์” ผลิตภัณฑ์ของ PSD ได้แก่ ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นเอ็น ไส้กรอก น้ำจิ้มลูกชิ้น โดยบริษัทฯ จะเข้าซื้อหุ้น PSD จำนวนรวม 105,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท โดยซื้อหุ้นจาก Faysmith จำนวน 73,500 หุ้น และซื้อหุ้นจาก L&A จำนวน 31,500 หุ้น รวม 70%
ทั้งนี้ จะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์หุ้น PSM และ PSD เมื่อเงื่อนไขบังคับก่อนการทำรายการที่ระบุในสัญญาซื้อขายหรือสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ
ขายครั้งนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล
คณะกรรมการบริษัทฯ มีความเห็นว่าการเข้าซื้อหุ้นสามัญของ PSM และ PSD ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าเพื่อการบริโภคที่ลูกจักกันในชื่อของ “ลูกชิ้นทิพย์” มีความสอดคล้องกับอุตสาหกรรม และแผนธุรกิจของบริษัทฯ ที่ต้องการจะขยายสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น
การเข้าลงทุนในครั้งนี้ทำให้บริษัทฯ รับรู้รายได้ของทั้งสองบริษัทได้ทันที ขณะที่ PSM และ PSD มีอัตรากำไรขั้นต้น และอัตรากำไรสุทธิในอดีตที่ดี ดังนั้นหากธุรกิจของ PSM และ PSD ดำเนินการภายใต้สภาวะปกติโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือมีผลกระอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อรวมกับการบริหารจัดการในด้านต้นทุนการผลิตที่สามารถประหยัดขึ้นได้ เช่น บรรจุภัณฑ์ของสินค้า ที่บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอยู่แล้ว หรือเครื่องจักรบางอย่างที่ยังไม่เต็มกำลังการผลิต สามารถนำมาผลิตได้เต็มกำลังมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทฯมีอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิที่เติบโตดีขึ้น
บริษัทฯจะได้รับผลประโยชน์จากการมีผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อการบริโภคที่หลากหลายมากขึ้น อีกทั้ง ลูกชิ้นทิพย์ เป็นสินค้าที่เป็นที่ยอมรับ และรู้จักในตลาดผู้บริโภคลูกชิ้นในลำดับต้นๆ มีชื่อเสียงมายาวนาน เมื่อบวกกับการที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้านอาหารอยู่แล้ว จะทำให้บริษัทฯสามารถนำผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นมาต่อยอดการแข่งขันในธุรกิจ ทั้งในแง่ของช่องทางการจำหน่าย และการเพิ่มทางเลือกเมนูอาหารให้แก่ผู้บริโภคได้มากขึ้น
การเข้าลงทุนในหุ้นของทั้งสองบริษัทนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าของธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของบริษัทฯ ได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต เนื่องจากจะมีการเสริมจุดแข็ง ความชำนาญในส่วนที่ต่างฝ่ายต่างมีความชำนาญให้แก่กัน เพื่อพัฒนายอดขายให้เติบโตมากขึ้น ซึ่งบริษัทฯ เชื่อมั่นว่า ธุรกิจดังกล่าวจะสร้างอัตราผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ได้ดีในอนาคต
สำหรับแหล่งเงินทุนในการซื้อหุ้นจะมาจากแหล่งเงิน 3 ส่วน คือ 1.เงินเพิ่มทุนนวนประมาณ 381 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ จะได้รับจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (RO) ตามที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2564 (กำหนดจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน 4-10 ม.ค.2565)
2. เงินจากการเสนอขายหุ้นกู้ประมาณ 1,000 ล้านบาท ตามที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2564 เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนส่วนที่ยังขาดจากการระดมทุนด้วยวิธี RO โดยคาดว่าจะได้เงินจากการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ก่อนสิ้นเดือนก.พ.2565 ประมาณ 250 ล้านบาท
3. หากในกรณีที่เงินที่ได้รับจากข้อ 1 และ 2 ไม่เพียงพอ บริษัทฯยังมีเงินสดคงเหลือของบริษัทฯ (ตามที่ปรากฏในงบการเงินสอบทานของบริษัทฯ ณ 30 ก.ย.2564) ประมาณ 150 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาใช้ลงทุนได้