คิดให้ดีก่อนซื้อ Perpetual Bond เพิ่มทุนเทียม-สร้างหนี้บาน

ในยามดอกเบี้ยต่ำ นักลงทุนยังคงมองหาแหล่งลงทุน เพื่อต้องการผลตอบแทนที่สูง หนึ่งในนั้นคือหุ้นกู้ที่ไม่มีเรทติ้ง ล่าสุด บริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (MJD) เพิ่งปิดการขายหุ้นไม่มีประกัน อายุ 2 ปี จ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 7.5% ต่อปี แต่หลายคนก็ไม่กล้าแบกรับความเสี่ยงขนาดนั้น บริษัทจดทะเบียนจึงสบโอกาสในการนำเสนอ “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท” หรือที่เรียกกันว่า Perpetual Bond มาให้นักลงทุนเลือกซื้อ โดยอาศัยแบรนด์ดังของบริษัทเป็นเครื่องการันตี และให้ผลตอบแทนไม่น้อยเลย เป็นสิ่งจูงใจ

เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ประกาศว่าพร้อมจะเปิดขายวันที่ 24-27 ก.ย.นี้ วงเงินรวม 1.5 หมื่นล้านบาท กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ 5.85% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก หลังจากนั้นจะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยส่วนเพิ่ม จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน เมื่อออก Perpetual Bond แล้ว จะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนลดลง เพื่อนำเงินไปชำระคืนหนี้ระยะสั้นที่กู้ยืมจากธนาคารมาในการซื้อหุ้น NH Hotel Group

แต่ช้าก่อน นักลงทุนทื่จะซื้อ Perpetual Bond อย่ามัวแต่มองเฉพาะดอกเบี้ยเท่านั้น จะต้องคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน

Perpetual Bond เป็นเพียง“มายาการเงิน” เป็นช่องโหว่ให้บริษัทก่อหนี้ในอนาคตมากเกินปัจจัยพื้นฐาน

นอกจากนั้นบริษัทยังมีอำนาจเหนือนักลงทุน เพราะมีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด และมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ถ้าไม่จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญ

หุ้นกู้กึ่งทุนชนิดนักลงทุนต้องกอดตลอดไปจนกว่าบริษัทจะเลิกกิจการ กำลังจะเป็นที่นิยมมาก ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น บริษัทออกมาขายเพื่อนำเงินไปชำระคืนสินเชื่อแบงก์ รวมถึงบริษัทต้องการเงินก้อนมหึมาสำหรับการซื้อกิจการขนาดใหญ่มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

Perpetual Bond เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีทางการเงินที่มีมานานแล้วในต่างประเทศ ส่วนในประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์เพิ่งนำมาใช้เมื่อตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเงินกองทุน เพียงแต่เรียกชื่อแตกต่างต่างกัน

หลังจากนั้นมีบริษัทนับ 10 แห่ง หันมาใช้ช่องทางนี้ อาทิ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL)ให้อัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) ให้ดอกเบี้ย 8.50% บริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL) จ่ายดอกเบี้ย 5%

เพราะเห็นประโยชน์ต่อบริษัทผู้ออกมากมาย แต่เป็นความเสี่ยงสำหรับนักลงทุน….

ข้อดีของบริษัทคือ ชื่อก็บอกว่าเป็นหุ้นกู้กึ่งทุนชนิดไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ในทางบัญชี การออกในช่วง 5 ปีแรก สามารถนับการระดมเงินเป็นเงินกองทุน ไม่ถือว่าเป็นหนี้ เหมือนการเสนอขายหุ้นกู้ทั่วไป

เมื่อมีเงินกองทุนขนาดใหญ่ขึ้น ก็มีความสามารถในการก่อหนี้เพิ่มขึ้น จากการพิจารณาคำขอสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ทั้งๆที่เงินส่วนที่เพิ่มขึ้น เป็นหนี้ก้อนโต และมีต้นทุนทางการเงินสูงกว่าการออกหุ้นกู้ปกติด้วย

บริษัทรู้ทั้งรู้ว่า“ต้องการเพิ่มขนาดของเงินกองทุน” แต่ไม่เลือกการออกหุ้นสามัญใหม่ เพราะไม่อยากให้เกิดไดลูชั่น และไม่ออกเป็นหุ้นบุริมสิทธิ เพราะการขายหุ้นบุริมสิทธิมีข้อจำกัดว่าจะต้องขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมเท่านั้น แต่การขาย Perpetual bond เปิดกว้างในการเสนอขายให้กับนักลงทุนทั่วไปได้ ซึ่งบริษัทมีความหวังว่าในที่สุด นักลงทุนกลุ่มนี้จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นในอนาคต เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนทุนกลายเป็นหนี้ในปีที่ 5

แต่หากนักลงทุนไม่เพิ่มทุนตาม หรือแผนการใช้เงินของบริษัทไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จะเกิดอะไรขึ้น และมีคำถามตามมาว่า บริษัทจะเพิ่มทุนใหม่ไหวไหม ซึ่งยากจะคาดเดาผลกระทบได้ในขณะนี้ เพราะสิ่งที่จะเป็นปัญหาตามมาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบริษัทที่ออกเท่านั้น ยังมีผลต่อเนื่องถึงระบบธนาคารพาณิชย์ด้วย

ดังนั้นนักลงทุนที่จะตัดสินใจซื้อหุ้นกู้กึ่งทุนชนิดไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท จะต้องศึกษาข้อมูลให้ดี และจะต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาวให้ได้….