บล.บัวหลวงชี้เป้า 1,800 จุด เชียร์ค้าปลีก-การเงิน-แพลตฟอร์มไอที-อสังหาฯ

HoonSmart.com>> “บล.บัวหลวง” มองเป้าดัชนีปี 65 ทะยาน 1,800 จุด กำไรบจ. โต 18.1% มากกว่าก่อนเกิดโควิด คาดเศรษฐกิจโต 4.1% เฟดขึ้นดอกเบี้ย เงินบาทอ่อนครึ่งปีแรก ลุ้นนักท่องเที่ยวกลับมาแรง ดึงฟันด์โฟลว์เข้าก้อนใหญ่ จัดพอร์ตเทน้ำหนักหุ้น 65% ชอบกลุ่มค้าปลีก-สถาบันการเงิน-เทคโนโลยี Platform-อสังหาริมทรัพย์  ด้านกนง.คงดอกเบี้ย 0.5% ปรับเป้าเศรษฐกิจปีนี้โต0.9% จากเดิม 0.7% ปี 65 ที่ 3.4% ปี66 ที่ 4.7%

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง เปิดเผยถึงทิศทางตลาดหุ้นไทยปี 2565 มองเป้าหมายดัชนีสิ้นปีมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปใกล้ระดับ 1,800 จุด คาดกำไรต่อหุ้นของตลาด (EPS) เติบโตจากปีนี้ 18.1% อยู่ที่ 98 บาทต่อหุ้น สูงกว่าปีที่ก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 2562) ที่มี EPS อยู่ที่ 86 บาทต่อหุ้น และสูงกว่าปีนี้ ที่คาดว่าอยู่ที่ 83 บาทต่อหุ้น ส่วนปี 2566 คาดว่าอยู่ที่ 107.8 บาทต่อหุ้นเพิ่มขึ้น 10% จากปี 2565   เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้คาดการณ์เป้าหมายดัชนีปี 2566 ขอรอดูอัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) อีกครั้งหนึ่งก่อน ส่วนการลงทุนในระยะสั้นให้แนวรับและแนวต้าน อยู่ที่ 1,580 จุด และ 1,650 จุด ตามลำดับ

ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ

“เรามองกำไรต่อหุ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ 95.4 บาทต่อหุ้น เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.1% และกำไรบจ.โตต่อเนื่องจากปี 2564 หลังคนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้ภาคท่องเที่ยวกลับมา ถึงแม้จะมีสายพันธุ์ใหม่อย่างโอมิครอน คงไม่มีการล็อกดาวน์เหมือนช่วงเกิดโควิด-19 แรกๆ” นายชัยพร กล่าว

ส่วนปัจจัยเสี่ยงในปี 2565 ที่อาจจะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวน คือ ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้ง ส่วนไทยคงในระดับ 0.5% เท่าเดิม โดยภาพรวมในช่วงครึ่งปีแรก ค่าเงินบาทยังอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ จากการแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย ส่วนครึ่งปีหลัง ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกดีขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดที่กลับมาเป็นบวก ส่งผลให้เงินบาทอาจจะเริ่มแข็งค่าขึ้นมา ส่วนประเด็นการเก็บภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ เชื่อว่าคงเป็นเพียง Sentiment ระยะสั้น ก่อนที่จะมีการใช้จริง ไม่ได้มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

” ประเมินว่าในปี 2565 นักท่องเที่ยวเข้ามาไม่เกิน 10 ล้านคน เทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ที่ระดับ 40-42 ล้านคน คาดว่าจะเห็นกลับมาจำนวนเท่าเดิม จะอยู่ในช่วงปี 2567 แต่หากตัวเลขสูงกว่าที่คาด ฟื้นตัวอย่างแท้จริง ก็อาจจะเห็น Fund Flow ก้อนใหญ่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ประกอบกับถือครองหุ้นไทยในสัดส่วนที่ต่ำ และขายสุทธิมาติดต่อกัน 5 ปี ประมาณ 700,000-800,000 ล้านบาท ทำให้มีโอกาสที่กลับมาซื้อบ้าง เม็ดเงินลงทุนต่างประเทศในปัจจุบันมีผลน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการเก็งกำไรปกติ “นายชัยพรกล่าว

สำหรับประเด็นการไถ่ถอน LTF มองว่ากระทบหุ้นไทยน้อยมาก เนื่องจากประเมินว่ามูลค่าการไถ่ถอนปีละ 10,000-15,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่าซื้อขายต่อวัน เฉลี่ยอยู่ที่ 80,000-100,000 ล้านบาท  สามารถรับแรงเสียดทานได้ ดังนั้นการไถ่ถอนจะมีผลกระทบที่ค่อนข้างน้อยมาก

นอกจากนั้นยังมีเรื่องเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน, การเลือกตั้งกลางสมัยของสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย.2565, ประเทศยุโรปอาจปรับเพิ่มดอกเบี้ยช่วงครึ่งหลังปี 2565 และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของประเทศจีนที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เป็นต้น ปัจจัยทั้งหมดล้วนทำให้กระแสเงินไหลเข้าออกภูมิภาคอาเซียน ทำให้เกิดการผันผวนมากขึ้น ดังนั้นนักลงทุนอาจต้องจับตาเรื่องเหล่านี้ต่อเนื่อง เพื่อจะได้ปรับแผนการลงทุนได้ทันเหตุการณ์

สำหรับภาพการลงทุน มองว่าหุ้นมีความน่าสนใจมากที่สุดใน Asset Class โดยทองคำปีนี้มีผลตอบแทนติดลบประมาณ -5.7% ส่วนตราสารหนี้ แนะนำทยอยลดสัดส่วนการถือครอง จนกว่าธนาคารกลางต่างๆจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปหลายครั้งแล้ว หรือจนจะจบวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว

” การจัดพอร์ตในปี 2565  แบ่งเป็นลงทุนทองคำ 10%, กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) 10%, ตราสารหนี้ 10%, เงินสด 5%, ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นแนะสัดส่วน 65% เน้นกระจายตัวใน หุ้นไทย 12% , หุ้นเวียดนาม 17% , หุ้นสหรัฐฯ 22% และที่เหลือลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นและจีน ซึ่งหุ้นจีน แนะนำรอผ่านไตรมาส 1-2/2565 ไปก่อน หรือรอหลังที่สามารถจัดการปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินแล้วเสร็จ”

ด้านกลุ่มหุ้นเด่นแนะนำ 1.กลุ่มการบริโภค  เน้นหุ้นราคายังปรับตัวขึ้นไม่มาก เมื่อเทียบกับหุ้นตัวอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน นอกจากนั้นยังได้รับประโยชน์จากการจับจ่ายใช้สอยที่คาดว่าจะสูงขึ้น แนะนำ CRC, CBG และ CPALL

2. กลุ่มสถาบันการเงิน และธุรกิจให้บริการสินเชื่อ ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2565 และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะพยายามคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำจนกระทั่งไตรมาสสุดท้ายปี 2565 ก็ตาม

3. กลุ่มด้านเทคโนโลยี Platform, การบริหารข้อมูลด้านการตลาด และการบริหารความเสี่ยง ปัจจุบันมีความจำเป็นมากขึ้น จากการแข่งขันที่สูงในภาวะตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยแนะนำ BBIK, BE8 SABUY และ JMART

4.กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ แนะนำเพิ่มสัดส่วน เพราะได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการ และสนับสนุนการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐ

อย่างไรก็ตามกลุ่มที่เคลื่อนไหวไปตามสถานการณ์โควิด-19 เช่น กลุ่มโรงพยาบาล และอุปกรณ์การแพทย์ ที่ผ่านมาราคาปรับขึ้นต่อเนื่อง แนะนำคงสัดส่วนการลงทุนไว้เช่นเดียวกับ กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี โดยมองว่าราคาน้ำมันดิบอาจไปได้ไม่ไกล หลังรัฐบาลทั่วโลกลงนามสนธิสัญญาลดคาร์บอน คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แม้จะได้แรงหนุน จากเทรนด์ Metaverse และกำไรขยายตัวต่อ แต่ปัจจุบันราคา Upside เหลือน้อยแล้ว จากมูลค่าที่ค่อนข้างแพงมาก จึงแนะนำลดสัดส่วนการลงทุนลง

ภาพรวมการลงทุนตลอดปี 2564 ที่ผ่านมาว่า ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนราว 13% ต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ติดลบ 9.13% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายหุ้นเฉลี่ยต่อวันสูงขึ้นแตะระดับ 80,000-100,000 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่อยู่ 50,000 ล้านบาท หนุนด้วยปัจจัยภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนดีกว่าปี 2563

กนง.ประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2564  มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 เป็นขยายตัว 0.9% จากเดิม 0.7% ปี 2565 ที่ 3.4% และ 2566 ที่ 4.7%