“กอบศักดิ์” เผยอีก 6 เดือนข้างหน้าหากราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจข้างล่างฟื้นตัว มั่นใจเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 4-4.5% ลั่นเดินหน้าผลักดันลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-อีอีซี เกาะติด 3 เทรนด์สร้างโอกาสให้ธุรกิจ
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “โอกาสและความเสี่ยงในปี 2561”ในงานเปิดตัวเว็บไซต์HoonSmart.com เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2561ที่ผ่านมา โดยมั่นใจว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4-4.5% แน่นอน โดยเครื่องยนต์เศรษฐกิจทั้ง 4 เครื่องกำลังขับเคลื่อนได้ดี โดยเฉพาะการส่งออก และในอีก 6 เดือนข้างหน้า หากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็น 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว เศรษฐกิจระดับล่างที่เกี่ยวข้องกับคน 20 ล้านคนจะฟื้นตัว
“ปีนี้ภาครัฐจะมีโครงการลงทุนพอสมควร ส่งออกก็ไปได้ ท่องเที่ยวก็ไปได้ และตอนนี้เราเห็นการบริโภคดีต่อเนื่อง ถ้าเป็น 4 เครื่องยนต์ เครื่องยนต์ต่างๆกำลังไปได้ดี แล้วเรื่องการลงทุนเอกชนจะตามมาทีหลัง และถ้าราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ในอีก 6 เดือนข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะเปลี่ยนไปผิดหูผิดตา รวมทั้งถ้าเราทำนโยบายต่างๆให้ดีก็น่าจะมีอัพไซด์ให้ แต่อย่างน้อยปีนี้โตได้ 4-4.5% แน่ เป็นสิ่งที่เรามั่นใจ”ดร.กอบศักดิ์กล่าว
ดร.กอบศักดิ์ ยอมรับว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลกังวลว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวหรือไม่ แต่ถึงตอนนี้รัฐบาลมั่นใจว่าเศรษฐกิจไปได้ เพราะการส่งออกกลับมาเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง และแม้ว่าเศรษฐกิจข้างล่างที่เกี่ยวข้องกับคน 20 ล้านคนยังไม่ดี เพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็หมายความว่าราคาสินค้าเกษตรทั่วโลกจะปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย
“เศรษฐกิจที่โต 4% มีข้างบนที่ไปได้ แต่เป็นคนกลุ่มน้อย ส่วนข้างล่าง 20 ล้านคนไปไม่ได้ เพราะมีปัญหาราคาสินค้าเกษตร แต่ผมก็มั่นใจว่าถ้าเศรษฐกิจโลกไปอย่างนี้ต่อ ราคาสินค้าเกษตรก็จะเริ่มทยอยขึ้น เพราะมันต่ำมานานแล้ว ตอนนี้ราคาข้าวดีขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ต่อไปก็อ้อย มันมาถึงจุดเลี้ยวกลับที่ทำให้ข้างล่างเริ่มลืมตาอ้าปากได้ ส่วนการใส่เงินลงไปช่วยหลายแสนล้านบาท ก็เหมือนกับการรดน้ำต้นไม้ ไม่มีทางจะสู้ฝนตกห่าใหญ่ได้”ดร.กอบศักดิ์กล่าว
ส่วนความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยปีนี้ ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า คงเป็นความเสี่ยงแบบครั้งๆคราวๆมากกว่า แต่จะไม่ลุกลามออกไปและสามารถจัดการได้ ไม่ว่าจะเป็นสงครามในซีเรีย หรือปัญหาเกาหลีเหนือ รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่มีผลกระทบบ้าง แต่จะเป็นช่วงสั้นๆเท่านั้น
“หัวใจสำคัญ คือ ถ้าอีกข้างหนึ่งไม่ได้มีความสามารถที่จะตอบโต้ได้ต่อเนื่องและยาวนาน ต่อให้เกิดความตื่นเต้น ก็เป็นช่วงสั้นๆเท่านั้น แต่นักลงทุนชอบตระหนก แม้กระทั่งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งเหมือนกับช้างสารชนกัน เราก็ต้องกระทบบ้าง แต่เป็นช่วงสั้นๆ เพราะการเปิดเสรีการค้าเป็นเทรนด์ที่จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าใครจะทำอะไรก็ตาม แม้แต่ความร่วมมือทีพีพีที่ทรัมป์บอกจะเลิก ตอนนี้ก็ให้กลับไปดูใหม่”ดร.กอบศักดิ์กล่าว
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ จากเดือนมี.ค.ที่ปรับขึ้นไปแล้ว 1 ครั้ง เนื่องจากเฟดเริ่มกังวลใจว่าจะจัดการปัญหาเงินเฟ้อไม่ได้ในระยะยาว เพราะการจ้างงานในสหรัฐดีขึ้นต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐเพิ่มขึ้น จะมีผลกระทบต่อพันธบัตรและค่าเงินทั่วโลก โดยค่าเงินเหรียญสหรัฐจะแข็งค่าขึ้นแน่นอน
“ความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศจะบั่นทอนตลาดทุนปีนี้ไปเรื่อยๆ แต่อย่าถอดใจ ผมคิดว่าถ้าเราทำพื้นฐานได้ดี เช่น การลงทุนอีอีซีมาตามนัด การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมาตามนัด การปฏิรูปกฎหมายมาตามนัด สิ่งนี้จะทำให้ไทยน่าสนใจ แต่แน่นอนว่าสถานการณ์การเมืองที่เข้มข้นเรื่อยๆ จะกระทบราคาหุ้น จึงเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องจัดการให้ได้ ในขณะที่ตลาดหุ้นของเรามีพื้นฐานที่ดี”ดร.กอบศักดิ์กล่าว
สำหรับเทรนด์ที่จะเป็นทั้งโอกาสและผลกระทบต่อภาคธุรกิจในอนาคตข้างหน้ามี 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1.การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแบบพลิกโฉมและเทคโนโลยีหุ่นยนต์อัตโนมัติ ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวครั้งใหญ่ หากเอกชนรายใดไม่มียุทธศาสตร์เกี่ยวกับดิจิทัลและโรโบติกจะมีปัญหาอย่างมากในอนาคต 2.รัฐบาลจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่จะสร้างโอกาสให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมืองในภูมิภาค
“ช่วง 3 ปีมานี้ รัฐบาลตั้งใจเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของไทยครั้งใหญ่ ซึ่งสร้างโอกาสต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และเมืองต่างๆ รัฐบาลตั้งใจอนุมัติโครงการรถไฟทางคู่อีก 1,500 กิโลเมตร จากปีที่แล้วที่อนุมัติ 1,000 กิโลเมตร การสร้างรถไฟฟ้า เราจะประมูลรถไฟฟ้าออกไปให้หมด พอรัฐบาลนี้พ้นไป รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะทำหน้าที่จ่ายตังก์ เพราะเราไม่รู้จะเกิดเหตุอะไรหรือเปล่า เราจะอนุมัติโครงการเหล่านี้ให้หมด ”
ส่วนการดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล เช่น การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งไม่มีการลงทุนมา 30 ปีแล้ว ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด เป็นต้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงานต่างๆที่จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงาน