ก.ล.ต. ยกเลิกข้อกำหนดให้งบการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพผ่านที่ประชุมใหญ่

HoonSmart.com>>สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทำและนำส่งสำเนางบการเงินและรายงานการสอบบัญชี รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อลดภาระและต้นทุน โดยสมาชิกกองทุนยังได้รับข้อมูลในระยะเวลาที่เหมาะสมและมีความเพียงพอต่อการติดตามการลงทุน

ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้หารือร่วมกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุนและผู้แทนบริษัทจัดการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อจำกัดในการจัดประชุมใหญ่สมาชิกในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อรับรองงบการเงิน โดยเห็นร่วมกันว่า ปัจจุบันบริษัทจัดการมีช่องทางที่สมาชิกกองทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยง่ายและทั่วถึง และข้อมูลงบการเงินยังได้กำหนดให้ต้องผ่านการรับรองโดยผู้สอบบัญชี ก.ล.ต. จึงเสนอปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อยกเลิกการรับรองงบการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยที่ประชุมใหญ่สมาชิก และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อสาธารณะและเปิดรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (focus group) กับผู้สอบบัญชีในตลาดทุน โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการที่เสนอ รวมทั้ง ก.ล.ต. ได้นำความคิดเห็นต่าง ๆ มาทบทวนเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นในทางปฏิบัติ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ครั้งที่ 14/2564 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบในการแก้ไขหลักเกณฑ์การยกเลิกการรับรองงบการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยที่ประชุมใหญ่สมาชิกตามที่ ก.ล.ต. เสนอ

การปรับปรุงหลักเกณฑ์ในครั้งนี้ กำหนดให้บริษัทจัดการจัดทำงบการเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเผยแพร่พร้อมกับรายงานการสอบบัญชีให้แก่สมาชิกกองทุน โดยยกเลิกการกำหนดให้ต้องเสนองบการเงินดังกล่าวต่อที่ประชุมใหญ่สมาชิกเพื่อรับรองงบการเงิน และกำหนดให้นำส่งสำเนางบการเงินและรายงายการสอบบัญชีให้ ก.ล.ต. ภายใน 5 เดือน นับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีประจำปีของกองทุน รวมทั้งบริษัทจัดการต้องรายงานหรือนำเสนอสรุปผลการดำเนินงานของกองทุน และมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุน ทุกรอบ 6 เดือน ในปีปฏิทินเป็นอย่างน้อย โดยให้นำเสนอให้สมาชิกกองทุนทราบภายใน 2 เดือน นับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ในการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลให้สมาชิกกองทุนทราบต้องผ่านช่องทางหรือวิธีการที่ทำให้สมาชิกกองทุนเข้าถึงได้โดยง่ายและทั่วถึง

ทั้งนี้ กำหนดให้การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้สำหรับการจัดทำและนำส่งสำเนางบการเงินและรายงานการสอบบัญชี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564