OTO กดปุ่มสตาร์ท ปี 65 เข้าโหมดเติบโตรอบใหม่

HoonSmart.com>> วันทูวัน คอนแทคส์  (OTO) หนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการศูนย์บริการข้อมูล (Outsourced Contact Center Service) ซึ่งแบ่งธุรกิจออกเป็น 1.บริการบริหารจัดการศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์แบบเต็มรูปแบบ 2. บริการออกแบบและติดตั้งระบบ Contact Center 3.บริการระบบศูนย์บริการข้อมูลและอุปกรณ์ 4.บริการจัดหาเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ และ 5.บริการบำรุงรักษา

จากธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงทำให้ในช่วงที่ผ่านมา รายได้และกำไรปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในช่วง 2 ปีหลัง ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้ผลการดำเนินงานแย่ลง เห็นได้จากรายได้ในปี 2560-2563 ปรับตัวลดลง จาก 826.63 ล้านบาท 718.27 ล้านบาท 790.53 ล้านบาท และ 685.09 ล้านบาท ตามาลำดับ ขณะที่กำไรสุทธิในปี 2560-2563 ลดลงจาก 50.45 ล้านบาท 20.61 ล้านบาท 33.01 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิกว่า 48.85 ล้านบาท

เป็นที่มาที่ทำให้กลุ่ม SAMART ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดใน OTO ให้กับกลุ่มทุนใหม่ ในช่วงปลายปี 2563

หลังกลุ่มทุนใหม่เข้ามาปรับโครงสร้างการบริหาร และปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทฯ ให้สอดคล้องกับแนวโน้มธุรกิจที่เปลี่ยนไป ควบคู่ไปกับการหางานใหม่เข้ามาเสริมทัพ เพื่อสร้างรายได้ประจำให้กับธุรกิจเดิม ในฐานะผู้นำตลาดธุรกิจ Call Center และ Contact Center

ผลประกอบการของ OTO เริ่มเห็นภาพของการ “เทิร์นอะราวด์” ชัดเจนขึ้น!
เห็นได้จากงบ 9 เดือนแรกของปี 2564 พลิกกลับมามีกำไรสุทธิสูงถึง 56.65 ล้านบาท เทียบกับปี 2563 ทั้งปีขาดทุนสุทธิ 48.85 ล้านบาท และสูงกว่าปี 2560-2562 ที่มีกำไรสุทธิ 50.45 ล้านบาท 20.61 ล้านบาท และ 33.01 ล้านบาท ตามลำดับ

ถือเป็นการ “ออกสตาร์ท” และพร้อมเข้าสู่โหมดการ “เติบโตรอบใหม่” ในปี 2565 จากธุรกิจใหม่ ที่ “กลุ่มทุนใหม่” กำลัง “ทรานส์ฟอร์ม” ธุรกิจของ OTO เข้าสู่ธุรกิจ Tech และ Digital ที่กำลังเป็นเมกะเทรนด์ เพื่อเพิ่มแหล่งที่มาของรายได้ให้กับบริษัท และในปี 2565 จะเป็น New S Curve ให้กับบริษัทฯ ให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทฯในปี 2565 มีโอกาสที่จะฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งจากงานใหม่ที่เพิ่งได้รับจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ผูกสัญญายาว 3 ปี (2565-2567) โดยจะเริ่มเปิดฉากรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

ยังไม่นับรวมส่วนแบ่งกำไรที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปลงทุนในบริษัท ฮินซิซึ จำกัด (มหาชน) (HST) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ไซแมท เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (SIMAT) ที่ OTO เข้าไปถือหุ้นสัดส่วน 10% และ SIMAT เองมีแผนนำ HST เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในปี 2565

ภาพของการ “ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ” เข้าสู่ธุรกิจ Tech และ Digital เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ในปี 2565 จะเริ่มเห็นการ “เก็บเกี่ยวรายได้” จากธุรกิจใหม่ ที่ OTO ร่วมทุนกับพันธมิตร

เริ่มจาก โปรเจค Social Bureau ซึ่งถือเป็นโปรเจคที่สร้างความฮือฮา! ให้กับวงการบล็อกเชน และเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี พอสมควร เพราะ OTO กับ “บล็อกเชน ไพรม์ โฮลดิ้ง” จะร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์ม Blockchain Solutions และนวัตกรรมพลิกโลกชั้นนำของเมืองไทย นำร่องในโครงการแรกด้วยโปรเจค Social Bureau ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรายงานและตรวจสอบประวัติอาชญากรรมบนบล็อกเชนแห่งแรกของโลก พร้อมกับการสร้างเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีของตัวเอง เพื่อรองรับแพลตฟอร์ม ภายใต้ความร่วมมือของบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของเมืองไทยมากมาย เช่น บริษัท อีนิกเซอร์ จำกัด บริษัท อีรูไดท์ บริการวิศวกรรม จำกัด และบริษัท อะควาริโอ จำกัด

ว่ากันว่า…หลังจากที่มีการเปิดตัว โปรเจค Social Bureau มีบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในและนอกตลาด สนใจเข้าลงทุนในเหรียญคริปโตเคอเรนซี่ ที่ใช้ในระบบนิเวศของโปรเจคนี้

และในปี 2565 ยังมีอีก 2-3 โปรเจคที่เตรียมเปิดตัวร่วมกับ “บล็อกเชน ไพรม์ โฮลดิ้ง” เพื่อรองรับความต้องการของตลาด ปูทางสู่การเป็น Tech company ในไม่ช้า

โดยบริษัท อินโนฮับ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ OTO จะเข้าไปถือหุ้นใน “บล็อกเชน ไพรม์ โฮลดิ้ง” ในสัดส่วน 20%

ตามด้วยโปรเจคใหม่ที่เพิ่งจับมือกับพันธมิตรยักษ์ใหญ่ในตลาดอย่าง บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) หรือ IP ซึ่งประกอบกิจการด้านการพัฒนา คิดค้น และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพและนวัตกรรมความงามสำหรับคน และผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยง จัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อลงทุนร่วมกันในการประกอบธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมถึงการให้คำปรึกษาด้านเภสัชกรออนไลน์ (ธุรกิจ Telepharmacy) โดยอินโน ฮับ จะถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนในสัดส่วน 50% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทร่วมทุน คาดเห็นความชัดเจนในไตรมาส 1/64

การร่วมทุนครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อดำเนินธุรกิจ Telepharmacy ซึ่งเป็นธุรกิจที่นำเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้บริโภคและเภสัชกร สามารถพูดคุยกันได้แบบทันท่วงที (Real-time) เพื่อลดข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ ทำให้ได้รับความสะดวกสบาย และประหยัดเวลา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการเหมือนกับการมารับบริการที่ร้านขายยา

การแตกไลน์ธุรกิจของ OTO ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ รองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ และพฤติกรรมของผู้บริโภค และเป็นโอกาสในการสร้าง S Curve ให้กับธุรกิจ ที่น่าจับตามองยิ่ง…กับการเริ่มเก็บเกี่ยวรายได้ธุรกิจใหม่ ที่จะเปิดฉากในปี 2565 กับยานลูก “อินโน ฮับ” ที่พร้อมออกร่อน กับธุรกิจ Tech และ Digital และมีอีกหลายโปรเจคที่เตรียมพร้อมเปิดตัวในปีหน้า หนุนธุรกิจ OTO เข้าสู่การเติบโตรอบใหม่ ที่ใคร ๆ ต้องตะลึง !!!