6 แบงก์เริ่มใช้ “E-KYC” ให้บริการลูกค้า ไม่เกินต.ค.ปีนี้

นายแบงก์เผย 5-6 ธนาคาร ส่งระบบ “E – KYC” ไปให้ธปท.ทดสอบแล้ว คาดเปิดใช้งานจริง ก.ย.-ต.ค.ปีนี้ เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าทำธุรกรรมดิจิทัล ด้าน “พิเชฐ” ลั่นโครงข่ายเน็ตประชารัฐสมบูรณ์ปี 62

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรีคอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิตอลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยระหว่างการเสวนาหัวข้อ “ฟินเทค” ในประเทศไทย ในงาน Thailand Focus 2018 วันนี้ (30 ส.ค.) ว่า ขณะนี้มีธนาคาร 5-6 แห่ง ได้ส่งระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของลูกค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (E – KYC) ที่พัฒนาเสร็จแล้ว ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการทดสอบซอฟต์แวร์ใหม่ (sandbox )

ทั้งนี้ หลังจากระบบ E-KYC ได้รับการอนุมัติจากทางธปท.แล้ว คาดว่าแต่ละธนาคารจะเริ่มนำมาระบบ E-KYC มาให้บริการลูกค้าได้ภายในเดือนก.ย.-ต.ค.ปีนี้ ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการหรือทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น การยื่นเอกสารประกอบการให้ความยินยอม และการลงลายมือชื่อ เป็นต้น โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขาด้วยตัวเอง และไม่ต้องยื่นเอกสารใหม่

นายฐากร กล่าวว่า ระบบ E – KYC ที่ผ่านการทดสอบของธปท.แล้ว จะสามารถเชื่อมโยงกับระบบ Digital ID Platform ที่สมาคมธนาคารไทยและพันธมิตรได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น โดยระบบ Digital ID Platform ถือเป็นระบบกลางที่รองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างเอกชนด้วยกัน และยังเชื่อมโยงข้อมูลไปยังหน่วยงานรัฐต่างๆได้ เช่น กรมการปกครอง และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ปาฐกถาหัวข้อ “เมืองอัจฉริยะ และ Internet of Things” ว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงข่ายอินเตอร์เน็ตประชารัฐ 7.5 หมื่นหมู่บ้าน ในส่วนที่ดำเนินการโดยบริษัททีโอที (TOT) นั้น ขณะนี้มีการส่งมอบแล้ว 2.47 หมื่นหมู่บ้าน และเฟสสองจะส่งมอบอีก 3,920 หมู่บ้าน ในเดือนก.ย.นี้ ส่วนเฟสที่เหลืออีก 1.5 หมื่นหมู่บ้านจะส่งมอบในปี 2562 และจะทำให้โครงข่ายอินเตอร์เน็ตประชารัฐเสร็จสมบูรณ์ตามแผน

สำหรับประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ จะสามารถเข้าถึงบริการระบบอินเตอร์เน็ตในราคาถูกของบริษัท ทีโอที (TOT) ที่ราคา 349 บาทต่อเดือน สำหรับอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงความเร็ว 30 Mbps (30/10 Mbps)

นอกจากนี้ กระทรวงดีอีอยู่ระหว่างผลักดันกฎหมาย 5 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมดิจิทัล เช่น Data Protection Law ,Cyber Security Law ,Spectrum Allocation Law หรือ Space Economy และ Development Law