ทริสคงเครดิต STARK ที่ BBB+ ชูกำไรแกร่ง งบดุลฟื้น พร้อมซื้อกิจการ

HoonSmart.com>>ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น” ที่ “BBB+” แนวโน้ม “คงที่”จุดเด่นเป็นผู้นำธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน กำไรดีขึ้นจากกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นสินค้าที่มีอัตรากำไรสูง ปรับปรุงด้านต้นทุน เชื่อการดำเนินงานในเวียดนามจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญ  งบดุลมีแนวโน้มจะฟื้นตัวดีขึ้นก่อนเริ่มเข้าซื้อธุรกิจใหม่อีกครั้ง ความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบจัดการได้ ห่วงผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน

บริษัททริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” สะท้อนถึงตำแหน่งผู้นำของบริษัทในธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนชื่อเสียงที่แข็งแกร่ง และประวัติการดำเนินงานที่ยาวนานของ บริษัทย่อยหลักคือ เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ (PDITL) และความสามารถในการทำกำไรที่ปรับตัวดีขึ้นจากกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูงและการปรับปรุงด้านต้นทุน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบ และอัตราแลกเปลี่ยน

อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางธุรกิจของ PDITL ที่มีชื่อเสียงในฐานะผู้ผลิตสายไฟฟ้าชั้นนำในประเทศไทยโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตจากเจ้าของเดิม ซึ่งได้แก่ บริษัทเฟ้ลปส์ ดอด์จ คอร์เปอเรชั่น และบริษัทเจเนอรัล เคเบิล PDITL ยังคงเป็นผู้ผลิตรายใหญ่เป็นอันดับสองในประเทศไทย ซึ่งครองส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจสายไฟฟ้าในปี 2563 ที่ 20% PDITLยังคงได้รับประโยชน์จากชื่อเสียงที่แข็งแกร่งในด้านคุณภาพสินค้า ประวัติการดำเนินงานที่ยาวนานในประเทศไทยมากกว่า 50 ปี และความหลากหลายของสินค้าที่มากที่สุด โดย PDITLเป็นผู้ผลิตในประเทศเพียงรายเดียวที่สามารถผลิตสายไฟฟ้าแรงดันสูงพิเศษ มากกว่า 230 กิโลโวลต์ได้

ธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าในประเทศเวียดนาม ดำเนินการภายใต้บริษัท Thipha Cables และ Dong Viet Non-Ferrous Metal and Plastic (TPC&DVN) ซึ่งบริษัทได้ซื้อกิจการในไตรมาสแรกของปี 2563 ทั้งนี้ TPC&DVN เป็นผู้ผลิตสายไฟฟ้ารายใหญ่ในประเทศเวียดนาม กำลังการผลิตมีขนาดที่ใหญ่กว่าของ PDITL ถึงประมาณ 80% แต่โรงงานยังมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำอยู่   หลังจากเริ่มปฏิบัติงานร่วมกับ PDITL  ก็ค่อย ๆ ดีขึ้น  โดยในปี 2563  โรงงานที่ประเทศไทยสร้างรายได้ประมาณ 58% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่ในเวียดนามสร้างรายได้ ประมาณ 32% โดยส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจโลจิสติกส์

อัตรากำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ โดยมุ่งเน้นในการจำหน่ายสายไฟฟ้าที่มีอัตรากำไรสูงมากขึ้น บริษัทได้ลดยอดขายของสินค้าที่มีอัตรากำไรต่ำ เช่น สายไฟฟ้าเปลือยและโลหะวัตถุดิบ ในขณะที่เร่งการจำหน่ายสายไฟฟ้าแรงดันปานกลางถึงสูงพิเศษ  นอกจากนี้ บริษัทได้ปรับปรุงการดำเนินงานภายในให้ดีขึ้น และเริ่มประสานการดำเนินงานระหว่างโรงงานในประเทศไทยและเวียดนาม เช่น การให้ PDITL เป็นศูนย์กลางในการจัดซื้อวัตถุดิบของทั้งกลุ่มบริษัท ตลอดจนการย้ายฐานผลิตลวดทองแดงทั้งหมดไปยังโรงงานในประเทศเวียดนามซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า

กลยุทธ์ดังกล่าวส่งผลให้กระแสเงินสดของบริษัทดีขึ้น โดยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเมื่อคิดเปอร์เซนต์ต่อรายได้ (EBITDA Margin) (ไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 12.7% ในไตรมาสแรกของปี 2563 เป็น 17.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564

ต้นทุนของวัตถุดิบทองแดงและอลูมิเนียมของบริษัทนั้นคิดเป็นประมาณ 70-80% ของต้นทุนการผลิตสายไฟฟ้าทั้งหมด ในมุมมองของทริส สัดส่วนของต้นทุนวัตถุดิบโลหะที่สูง ทำให้บริษัทมีกำไรที่ผันผวน แต่บริษัทได้ลดความเสี่ยงดังกล่าวผ่านกลยุทธ์ตั้งราคาขายโดยส่งผ่านต้นทุน (Cost Plus Pricing Strategy) และนโยบายในการทำสัญญากำหนดราคาวัตถุดิบและอัตราแลกเปลี่ยนทันที หลังจากได้รับการยืนยันการสั่งสินค้าจากลูกค้า ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นรายไตรมาสของบริษัทนั้นยังอยู่ในช่วง 16.7-22.7% ในระหว่างไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ซึ่งมีความผันผวนน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับราคาทองแดงซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 65% ในช่วงเวลาดังกล่าว

ในทางตรงกันข้าม ทริสมองว่าความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน มีผลกระทบต่อกำไรของบริษัทเพิ่มมากยิ่งขึ้นจากการเติบโตของยอดขายที่รวดเร็วและการได้รับเครดิตเทอมจากผู้จำหน่ายโลหะที่ยาวนานมากขึ้นสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบ โดยบริษัทบันทึกผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 815 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมากเมื่อพิจารณาจากกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 2,578 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 รายได้อยู่ที่ 1.97 หมื่นล้านบาท เติบโต 65.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า การเติบโตส่วนใหญ่มาจากการรวมรายได้ของบริษัทย่อยในประเทศเวียดนามและคำสั่งซื้อสายไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่รับรู้ในช่วงไตรมาสที่ 3   โดย EBITDA อยู่ที่ประมาณ 2.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 33%  อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ลดลงเหลือ 3.4 เท่าในเดือนก.ย.2564 จาก 3.8 เท่า ณ สิ้นปี 2563

ทริสเรทติ้งมองว่าความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจผลิตสายไฟฟ้านั้นดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ผลขาดทุนจำนวนมากจากการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลทำให้อัตรากำไรโดยรวมลดลง ทั้งนี้ จากการคำนวณ EBITDA Margin ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ลดลงมาอยู่ที่ 13.1% จาก 16.1% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ทริสเชื่อว่าการดำเนินงานในประเทศเวียดนามจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญของบริษัท พิจารณาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของประเทศและโอกาสที่ยังมีมากในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน  เชื่อว่าประสิทธิภาพการดำเนินงานจะค่อย ๆ ดีขึ้นด้วยความช่วยเหลือจาก PDITL นอกจากนี้ TPC&DVN มีแนวโน้มที่จะได้ประโยชน์จากชื่อเสียงของ PDITL ทั้งในแง่การส่งเสริมการขายและการเข้าสู่ตลาดที่มีอัตรากำไรสูงในประเทศเวียดนามอีกด้วย

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายรับและกำไรของปี 2564 จะสูงเป็นพิเศษ จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาสที่ 3 จากกรณีพื้นฐาน คาดรายได้จะอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท และมี EBITDA ที่ 3.4 พันล้านบาทในปี 2564 ส่วนปี 2565 รายได้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทเติบโต 4-5% ต่อปีหลังจากนั้น โดย EBITDA Margin น่าจะอยู่ที่ 14-15% เป็นอย่างต่ำ หรือคิดเป็น EBITDA เฉลี่ยที่ประมาณ 2.8-3 พันล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้คาดว่าสัดส่วนหนี้สินมีแนวโน้มที่จะปรับลดลง จากแผนการลดภาระหนี้ เพื่อที่จะฟื้นฟูความแข็งแกร่งของงบดุล ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินการหลายมาตรการเพื่อลดความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนและปรับโครงสร้างทางการเงิน ทั้งนี้ บริษัทไม่มีแผนในการซื้อกิจการขนาดใหญ่ และจะยังไม่มีการจ่ายปันผลในช่วงปี 2564-2565 ทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA จะปรับตัวดีขึ้น โดยลดลงเหลือประมาณ 3 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้ทางการเงินสุทธิจะปรับตัวดีขึ้นโดยอยู่ที่มากกว่า 15% ในช่วงประมาณการ หลังจากนั้น ทริสเชื่อว่าบริษัทจะกลับมาใช้กลยุทธ์การเติบโตผ่านการซื้อกิจการอีกครั้งเพื่อขยายธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าหรือธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ส่วนสภาพคล่องของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะยังอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ โดยแหล่งเงินทุน ประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 1.13 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนก.ย.2564 และเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีภาระในการชำระหนี้เงินกู้ประมาณ 2.44 พันล้านบาท ทริส คาดว่าบริษัทน่าจะมีการลงทุนประมาณ 0.9 พันล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าซึ่งบริษัทอาจต้องใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมบางส่วน

ณ สิ้นเดือนก.ย. 2564 บริษัทมีหนี้สินซึ่งไม่รวมหนี้จากสัญญาเช่าการเงินอยู่ที่จำนวน 1.36 หมื่นล้านบาท ในขณะที่หนี้ที่มีลำดับในการรับชำระคืนก่อนซึ่งรวมทั้งหนี้ที่มีหลักประกันและหนี้ที่เป็นของบริษัทย่อยมีจำนวนทั้งสิ้น 1.12 หมื่นล้านบาท ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 82% ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์ของทริสซึ่งอยู่ที่ระดับ 50% ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงมองว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญในแง่ของลำดับในการเรียกร้องต่อสินทรัพย์ของบริษัท