HoonSmart.com>>ผู้ว่าธปท .เตือนSMEs รับมือกระแส Digital และ Green ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง ย้ำสร้างสมดุล “สนับสนุนนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยงที่จะตามมา”ไม่ให้กระทบภาคการเงินในวงกว้าง นำไปสู่ความเข้มแข็งมั่นคงที่แท้จริงในระบบการเงิน
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “The Future of Thai Economy and Finance”หรืออนาคตของเศรษฐกิจและการเงินไทย ว่า อนาคตของเศรษฐกิจและการเงินไทยต้องมีการเติบโตแบบทั่วถึง ซึ่งไม่ใช่การเติบโตแค่บางกลุ่มและหวังให้มีการกระจายการเติบโตไปยังกลุ่มที่เหลือ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความเหลื่อมล้ำ และความเปราะบางสูง เห็นได้จาก 40 ปีที่ผ่านมา ปี 2523 เศรษฐกิจไทยเคยโตถึง 10% แต่ในทศวรรษนี้ โตไม่ถึง 4% และจะต่ำกว่านี้อีกในอนาคตถ้าไม่มีการปรับตัว
มองไปข้างหน้า มีอย่างน้อย 2 กระแสที่จะมาแน่นอน คือ Digital และ Green ซึ่งทั้งสองกระแสนี้ มีศักยภาพที่จะเพิ่มการกระจายตัวอย่างทั่วถึง แต่ก็มีโอกาสที่ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำเช่นกัน
ด้านการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ Digital คนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี มักเป็นคนที่ได้แต้มต่อ เช่น คนมีทักษะสูง ซึ่งสามารถเรียนรู้ใช้เทคโนโลยีใหม่ได้ง่ายกว่าคนที่ทักษะต่ำ หรือบริษัทรายใหญ่ไม่กี่ราย รวมถึงเทคโนโลยี Digital ที่จะซ้ำเติม SMEs หรือผู้เล่นรายเล็กให้ปรับตัวได้ลำบาก นำไปสู่โอกาสที่จะมีการผูกขาดในระยะยาว
ส่วนกระแส Green ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยเริ่มปรับตัวรับกระแสนี้ไปแล้ว ขณะที่รายเล็ก หรือ SMEs มีเงินทุนไม่สูงมาก สายป่านสั้น และยังต้องปรับตัวให้ผ่านวิกฤตโควิดก่อน จึงยากที่จะปรับตัวต่อกระแส Green ด้านแรงงาน มีโอกาสที่เกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานไทยจะถูกกระทบไม่มากก็น้อยจากกระแส climate change
ด้านการสนับสนุนการกระจายตัว Digital และ Green เป็นโอกาสที่จะสร้าง inclusive growth ได้ ซึ่งเทคโนโลยี Digital จะช่วย SMEs และประชาชนได้อย่างน้อย 3 ด้าน
1. เพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างรายได้ให้รายเล็ก ด้วยการเข้าสู่ digital platform
2. การที่ SMEs และประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
3. กระตุ้นภาคการเงินให้มีพัฒนาการและสนับสนุนประชาชนและธุรกิจได้หลากหลายกลุ่ม และตอบโจทย์ผู้บริโภครายเล็ก ๆ
ส่วนหน้าที่ของ ธปท.ต้องสร้างระบบนิเวศ ซึ่งเห็นว่ามีโจทย์สำคัญอย่างน้อย 3 เรื่อง
โจทย์แรก คือ ทำให้ภาคการเงินส่งเสริม inclusion ด้วยการเพิ่มโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จาก Digital และข้อมูลได้เต็มที่ ซึ่งการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในวงกว้างขึ้นในอนาคต จะเอื้อให้เกิดกลไกการค้ำประกันเครดิต ให้ทุกกลุ่ม ทั้งประชาชน SMEs และบริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม
โจทย์ที่สำคัญ คือ การมีระบบที่เอื้อให้เราเท่าทันความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี Digital ทั้งการป้องกันและรับมือกับภัย cyber และการหลอกลวง (fraud) รวมทั้งมีกลไกป้องกันความเสี่ยงของข้อมูลรั่วไหล ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันเหล่านี้ ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการใช้งาน Digital ของประชาชนและธุรกิจไทย
โจทย์สุดท้าย คือ การเตรียมกลไกภาคการเงิน และออกแบบแรงจูงใจ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนได้อย่างราบรื่น โดยที่ผ่านมา ธปท. และหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน ร่วมกันพัฒนา “ภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน ”เพื่อช่วยในการปรับตัว โดยเฉพาะรายเล็กที่จะต้องได้รับโอกาสเพื่อให้ก้าวทันกระแสโลกใหม่
ผู้ว่าการธปท. ระบุด้วยว่า ภายใต้บริบทโลกใหม่ การรักษาเสถียรภาพหรือ stability ให้กับภาคการเงินจะยังมีความสำคัญ เพราะต้องมั่นใจว่าผู้ให้บริการทางการเงินยังสามารถทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง การสร้างความมั่นคงเข้มแข็งรวมไปถึงความสามารถในการฟื้นตัวหรือรับมือกับ shocks ต่าง ๆ
“ภาคการเงินต้องสร้างสมดุลให้ดี ระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยงที่จะตามมา ไม่ให้กระทบภาคการเงินในวงกว้าง เพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งมั่นคงที่แท้จริงที่จะสนับสนุนให้ระบบการเงินทำหน้าที่ได้ดี สามารถกระจาย ทรัพยากรและโอกาสทางการเงินไปสู่ผู้ที่ต้องการได้อย่างเหมาะสม ให้เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืน สร้างความเจริญทั่วถึง” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว