เชียร์หุ้นแบงก์ถูก-โตชัวร์ เร่งสินเชื่อรายย่อย ฟันกำไรดี

HoonSmart.com>>บล.หยวนต้าให้น้ำหนักกลุ่มธนาคารมากกว่าตลาด ไตรมาส 4 รายได้โต ตั้งสำรองลด ราคาหุ้นยังไม่แพง แบงก์หลายแห่งขยายสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง เชียร์ KBANK-KKP ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดสินเชื่อระบบแบงก์ปี65 โต 5.5%  สินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้น 6.5% NPLs ทรงตัวแถว 3% ผู้ว่าธปท.ไม่ห่วงธนาคารกลางแห่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ยันไม่กระทบไทย ธนาคารกรุงศรีเพิ่มเป้าเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 1.2% ปีหน้าโต 3.7%

วันที่ 23 พ.ย. 2564 หุ้นธนาคารพาณิชย์เริ่มกลับมาเป็นที่สนใจของนักลงทุนอีกครั้ง หนุนราคาแบงก์ใหญ่บวกเล็กน้อย ได้รับผลดีจากอัตราผลคอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ(บอนด์ยีลด์) เพิ่มขึ้น โดยบล.หยวนต้า คงน้ำหนักลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร “มากกว่าตลาด” มองผลการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4/2564 จากทั้งรายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่ฟื้นตัว รวมถึงการตั้งสำรองที่ต่ำลง นอกจากนี้ยังมีราคาที่ไม่แพง สัดส่วนราคาต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี (P/BV) ต่ำเพียง 0.7 เท่า

” เลือก KBANK ให้มูลค่า 180 บาท และ KKP ที่ 71.50 บาท เป็น Top Pick ซึ่งมีการขยายตัวของสินเชื่อโดดเด่น และราคายังซื้อขายด้วย P/BV ที่ไม่สูง”บล.หยวนต้าระบุ

ส่วนภาพรวมสินเชื่อเดือนต.ค.2564 ทรงตัวจากเดือนก.ย. หลังมียอดชำระคืนในกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ แต่เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกในฝั่งสินเชื่อรายย่อย หลายธนาคารเริ่มหันมาขยายสินเชื่อกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น คาดหนุนให้อัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์เริ่มฟื้นตัว

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics ) คาดการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในปี 2565 มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง สินเชื่อขยายตัวได้ 5.5% โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยคาดโต 6.5% ฟื้นตัวทุกหมวดหมู่ ทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัยคาดเพิ่มขึ้น 7% สินเชื่อรถยนต์ และ สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นถึง 8.5% ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขยายตัว 4.2%

ขณะที่เงินฝากขยายตัว 3.0% ลดลงเล็กน้อยจากประมาณการปีนี้ที่ 3.5%  ด้านคุณภาพสินเชื่อโดยรวมยังทรงตัวอยู่ในระดับ 3.0%

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญภาวะการระบาดของโควิด-19 การประสานระหว่างนโยบายด้านการเงินและด้านการคลังเป็นเรื่องสำคัญ การทำนโยบายเศรษฐกิจ คือ ต้องทำอย่างไรให้การฟื้นตัวไม่สะดุด และตรงจุด เพื่อช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจที่อาจจะฟื้นตัวล่าช้า เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญของนโยบายการคลัง ส่วนนโยบายการเงินจะต้องช่วยสนับสนุนการฟื้นตัว โดยต้องยอมรับว่านโยบายการคลังยังเป็นพระเอก

“ในปี 2563 เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ 6% แต่หากไม่มีนโยบายการคลัง ไม่มีการกู้เงินมาช่วยจะเห็นเศรษฐกิจติดลบถึง 9% ส่วนปี 2564 คาดว่าจะโตได้ 0.7% แต่ถ้าไม่มีนโยบายการคลังจะเห็นเศรษฐกิจติดลบ 4% เช่นเดียวกับปี 2565 โดยเบ็ดเสร็จพบว่าในช่วง 3 ปี (2563-2565) นโยบายการคลังจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโตเพิ่มได้ 10.8%” ผู้ว่าธปท.ระบุ

สำหรับปัญหาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าคาดการณ์ จนทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าธนาคารกลางของกลุ่มประเทศหลักจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนนั้น ถือเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่ ธปท. จับตามอง และไม่ชะล่าใจ แม้ว่าจะไม่เป็นความเสี่ยงกับเศรษฐกิจไทยก็ตาม เนื่องจากความเสี่ยงเรื่องความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของโลกนั้นยังไม่น่าสูงมาก เพราะการลงทุนของต่างชาติไม่มีน้ำหนักมากนักในตลาดพันธบัตรไทยเมื่อเทียบกับภูมิภาค ดังนั้นแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะมีการปรับตัวสูงขึ้น โอกาสที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยของไทยปรับขึ้นเร็วและแรงก็ไม่น่าจะเห็น หรือหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริง ผลที่ส่งผ่านไปยังระบบเศรษฐกิจจริงก็ไม่น่าสูงมาก

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว คาดไตรมาสสุดท้ายจะกลับมาเติบโตได้ราว 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 จึงได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2564 ขยายตัว 1.2% จากเดิมคาดไว้ 0.6 %  และปี 2565 โตต่อเนื่องที่ 3.7%  จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และมาตรการภาครัฐเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายและท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งปีคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3.5 แสนคน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาด 1.5 แสนคน และการส่งออกปี 2564 จะขยายตัว 16.5% เพิ่มขึ้นจากเดิม 15.0%