บลจ.กรุงไทย ประเมินรัฐเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้กระทบรายได้ดอกเบี้ยหาย 15% เร่งหาผลตอบแทนเพิ่มชดเชยถูกหักภาษี พร้อมเสิร์ฟกองทุนใหม่ KTFF198 อายุ 1 ปี ลงทุนตราสารหนี้ ผลตอบแทน 1.80% ต่อปี
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพรบ.จัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ ผ่านกองทุนรวม โดยให้เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล หัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากรายได้ดอกเบี้ยหรือส่วนลดของตราสารหนี้ที่กองทุนรวมได้รับ ไม่เก็บในส่วนของ Capital gain โดยผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่ได้ผ่านการเสียภาษีมาแล้ว
“คาดว่าจะกระทบกับผลตอบแทนของกองทุนรวมบ้าง โดยเฉพาะในส่วนของรายได้จากดอกเบี้ยหรือส่วนลดรับที่ต้องถูกหักภาษีไป 15% เช่นหากกองทุนลงทุนในตราสารหนี้อัตราดอกเบี้ย 2% ก็จะเหลือ 1.70% บริษัทต้องหาทางสร้างผลตอบแทนให้เพิ่มขึ้น( AlPha) เพื่อชดเชยส่วนที่ถูกหักภาษีไป ซึ่ง หากผลตอบแทนของกองทุนยังสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ก็ยังสามารถสร้างความน่าสนใจให้กับผู้ลงทุนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนยังคงมีสภาพคล่องดีกว่าเงินฝากประจำ เนื่องจากขายคืนได้ทุกวัน”นางชวินดา กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทย ตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 198 ( KTFF198) เสนอขายตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 4 กันยายน 2561 อายุ 12 เดือน เน้นลงทุนในเงินฝากประจำAgricultural Bank of China , Bank of China , AL Khalij Commercial Bank , AL Ahli Bank ในสัดส่วนสถาบันการเงินละ18% ลงทุนในเงินฝากประจำ China Construction Bank Asia บัตรเงินฝาก Industrial and Commercial Bank of China ,China Merchanyts Bank และ Bank of Communications สัดส่วนสถาบันการเงินละ5% และ MTN ของ Mashreq Bank 8% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 1.80% ต่อปี โดยบุคคลธรรมดาไม่เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย
สำหรับอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกช่วงอายุโดยเฉพาะช่วงอายุ 2-3 ปี ที่อัตราผลตอบแทนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงอายุอื่นตามแรงขายของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเร็วกว่าคาดหลัง GDP ไตรมาส 2 ปี 2561 ออกมาดีกว่าที่คาดไว้ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาแถลงว่าพร้อมที่ขึ้นดอกเบี้ยในจังหวะเวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นผู้ซื้อหลัก ในตราสารระยะยาว ส่งผลประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 14 ปี (LB326A) จำนวน 15,000 ล้านบาท ออกมาดีโดยมี BCR 2.43 เท่า โดยสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติเป็นยอดซื้อสุทธิจำนวน 32,779 ล้านบาท
ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกามีการปรับตัวผันผวน ตามความคาดหวังผลการเจรจาระหว่าเจ้าหนี้สหรัฐอเมริกาและจีนเพื่อคลี่คลายข้อพิพาททางการค้าและปูทางไปสู่การประชุมสุดยอดของผู้นำในเดือนพฤศจิกายนซึ่งสุดท้ายแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า ในขณะที่ Fed ยังคงนโยบายที่จะขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป โดย UST 2-10 มีการปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 19 bps. โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 bps. มาอยู่ที่ 2.63% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี อยู่ที่ 2.72% ต่อปี ลดลง 3 bps. และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวลดลง 5 bps. มาอยู่ที่ 2.82% ต่อปี