สมาคมประกันวินาศภัยไทยร้องคปภ.แก้เกณฑ์”ห้ามยกเลิกกรมธรรม์”

HoonSmart.com>>สมาคมประกันวินาศภัยไทย เสนอคปภ.ยกเลิกคำสั่ง”ห้ามบริษัทประกันยกเลิกกรมธรรมประกันภัยโควิด คาดสิ้นปี 64 ค่าสินไหมทดแทนโควิด แตะ 4 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินกองทุน ห่วงบริษัทล้มกระทบทั้งระบบ

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวถึง“สถานการณ์วิกฤตจากการรับประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ”ว่า อัตราค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด 19 ณ วันที่ 15 พ.ย. 64 อยู่ที่ 37,000 ล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนอยู่ที่ 132,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 26.8% เป็นประเภท เจอ จ่าย จบ 31,750 ล้านบาท ส่วนประเภทอื่น 5,250 ล้านบาท คาดสิ้นปี 31 ธ.ค. 64 จะเพิ่มเป็น 40,000 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินกองทุน โดยเป็นประเภท เจอ จ่าย จบ 34,000 ล้านบาท ประเภทอื่น 6,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทประกันวินาศภัยหลายบริษัทอยู่ในภาวะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

จากสถิติผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยมีอัตราผู้ติดเชื้อ 2.8% ของประชากร แต่อัตราผู้ติดเชื้อของผู้ที่มีประกันภัย COVID-19 สูงถึง 3.8% ของผู้ถือกรมธรรม์ สูงกว่าอัตราการติดเชื้อของประชากรไทยทั่วไปถึง 35% และจากข้อมูลบริษัทซึ่งอยู่ใน TOP 5 ของบริษัทที่รับประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ พบว่า ผู้ที่มีกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ มีอัตราการติดเชื้อสูงถึง 4.2% ซึ่งสูงกว่าอัตราการติดเชื้อของประชากรไทยทั้งหมดถึง 46%

การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยความเสี่ยงผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 อย่างมีนัยสำคัญ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในปี 2563 มีจำนวน 6,884 คน ในขณะที่ปี 2564 นับจนถึงวันนี้ มีผู้ติดเชื้อถึง 2,037,241 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 296 เท่าหรือ 29,600% สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตในปี 2563 อยู่ที่ 61 คน ในขณะที่ผู้เสียชีวิตในปีนี้มีถึง 20,193 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 331 เท่าหรือ 33,100%

ขณะที่เงื่อนไขการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยนั้น เป็นเงื่อนไขมาตรฐานที่กำหนดอยู่ในกรมธรรม์ทุกประเภททั่วโลกและในประเทศไทยรวมถึงกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ซึ่งเงื่อนไขการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ. ทุกฉบับ

กรณีที่คปภ.มีคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกโดยบริษัทประกันภัย โดยให้มีผลบังคับย้อนหลังไปถึงกรมธรรม์ที่ได้ออกไปแล้วก่อนหน้าวันที่มีคำสั่งประกาศใช้ ในขณะที่ความเห็นจากกลุ่มบริษัทที่รับประกันภัย COVID-19 นั้น มีความเห็นแตกต่าง โดย
1) คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้เฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกใหม่หลังวันที่ออกคำสั่ง เช่นที่เคยปฏิบัติมา
2) ตามหลักกฎหมายทั่วไป (รัฐธรรมนูญ หลักกฎหมายปกครอง และหลักกฎหมายอาญา) กฎหมายย่อมไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง ยกเว้นกฎหมายที่เป็นคุณกับผู้ถูกบังคับ
3) เงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยมีความสัมพันธ์กับนโยบายการรับประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัย เมื่อมีคำสั่งแก้ไขเฉพาะเงื่อนไข ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้รับประกันภัย
4) มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้รับประกันภัยต่อ เพราะเงื่อนไขที่นายทะเบียนสั่งแก้ไขอาจไม่ตรงกับสัญญาประกันภัยต่อ และจะทำให้เกิดปัญหาเมื่อมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยต่อ

“ธุรกิจประกันวินาศภัยไทยมีเจตนาดี ที่จะนำระบบประกันภัยเข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยงของประชาชนและภาครัฐ โดยได้ร่วมกับสำนักงาน คปภ. พัฒนากรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพและการเงินให้กับประชาชน และช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐในเรื่องของการจ่ายค่ารักษาพยาบาลและการชดเชยรายได้ แต่ภาพรวมและปัจจัยความเสี่ยงการรับประกันภัย COVID-19 ได้เปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึง ดังนั้นหากฐานะการเงินของบริษัทประกันภัยใดไม่สามารถรองรับความเสี่ยงได้อีกในอนาคต และจำเป็นต้องบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 บริษัทประกันภัยไม่ได้มีเจตนาเอาเปรียบหรือทอดทิ้งผู้เอาประกันภัย แต่เพื่อจำกัดความเสียหายไม่ให้เกิดในวงกว้าง และรักษาเสถียรภาพของระบบประกันภัย” นายอานนท์กล่าว