ผู้ว่าธปท. แนะ ”ภาคเกษตร-ท่องเที่ยว” ปรับตัวเน้นกระแส”ดิจิทัล-ดูแลสิ่งแวดล้อม”

HoonSmart.com>>ผู้ว่าการธปท.แนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ”ภาคเกษตรและท่องเที่ยว “เน้นใช้ดิจิทัล ดูแลสิ่งแวดล้อม สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้เศรษฐกิจไทย แบงก์ชาติเร่งกำหนดบทบาทอนาคตสถาบันการเงินไทย เห็นภาพชัดต้นปี 65

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธินาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปาฐกถาพิเศษ งานสัมมนาออนไลน์ในโอกาสครบรอบ 40 ปี วารสารการเงินธนาคาร Thailand’s Next Move : Looking Beyond Covid-19 หัวข้อ “Looking Beyond Covid-19 : โจทย์ที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด 19” โดยเตือนว่า ใน 10-20 ปีข้างหน้า ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเหลือเพียงปีละ 3% เนื่องจากเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่เคยผลักดันการเติบโต ได้แก่ การส่งออก เงินลงทุนจากต่างประเทศ และการท่องเที่ยว ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม การรักษาศักยภาพการเติบโตของไทยจะต้องโตแบบไทย เน้นด้านที่ไทยมีศักยภาพในการต่อยอด เอาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์มาเป็นจุดแข็ง

ในระยะข้างหน้ามีอย่างน้อย 2 กระแสที่เข้ามากระทบการวางแผนการเติบโตของเศรษฐกิจ (Growth story) อย่างแรก คือ กระแสดิจิทัลที่จะเข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจอย่างสิ้นเชิง อีกกระแสหนึ่ง คือ sustainability โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลเร็วและแรงกว่าคาด

ที่สำคัญ Growth story ข้างหน้า จะต้องเน้นการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม หรือ inclusive growth เพื่อให้เศรษฐกิจมีความทนทานต่อความท้าทายต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น ภาคเกษตรและอาหาร ที่ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญและเป็นครัวของโลก ซึ่งถือเป็น “ทุน” ที่ดีในการต่อยอด โดยต้องยกระดับการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้เป็นสินค้า premium ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่ม productivity และความสามารถในการแข่งขัน จนถึงการมีแพลตฟอร์ม e-commerce เชื่อมเกษตรกรกับผู้ขายและผู้บริโภคโดยตรง การใช้ digital marketing ให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ตลอดจนการผลิต future food ที่ใช้นวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่ม

ภาคท่องเที่ยวต้องปรับโมเดลให้มีภูมิคุ้มกันในระยะยาว โดยเพิ่มรายได้ต่อหัวเพื่อชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะลดลง เน้นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เช่น กลุ่ม green หรือ community-based tourism ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น ช่วย “สร้างและกระจาย” รายได้ สูงกว่าการท่องเที่ยวแบบเดิม

ผู้ว่าการธปท. กล่าวด้วยว่า การทำให้ Growth story เกิดขึ้นได้จริง แต่ละภาคส่วนจะต้องเร่งทำบทบาทของตัวเอง และการร่วมมือกับคนอื่น ๆ ผลักดันการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจ ให้รองรับความท้าทายได้ดีขึ้นในอนาคต

ภาครัฐ ต้องวางทิศทางนโยบายให้ชัดเจน เพื่อให้ภาคธุรกิจเห็นภาพเดียวกันและวางแผนปรับตัวได้ และมีกลไกสนับสนุนโดยเฉพาะการปรับตัวเข้าสู่กระแสดิจิทัลและความยั่งยืน อาจต้องเพิ่มแรงจูงใจให้เร่งทำ และการเร่งวางรากฐานเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและประชาชน เช่น การปรับกฎระเบียบต่าง ๆ การเร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น การทำFTA เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของไทยให้กับบริษัทข้ามชาติและขยายตลาดส่งออก

ภาคธุรกิจ ถือเป็นผู้เล่นสำคัญใน Growth story ที่ต้องตัดสินใจยกระดับธุรกิจ ปรับรูปแบบกิจการ หรือวางแผนลงทุนใหม่ โดยต้องให้น้ำหนักกับทั้งกระแสดิจิทัลและการปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานต่าง ๆ อย่างจริงจัง เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพและความปลอดภัย

ธนาคารพาณิชย์และตลาดทุน มีบทบาทสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน สนับสนุนการปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแสในอนาคต ด้วยการให้สินเชื่อหรือเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ เพื่อนำเทคโนโลโลยีดิจิทัลมาใช้ปรับธุรกิจ หรือมุ่งสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำเรื่อง ESG มาพิจารณาในการให้สินเชื่อ

ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแลระบบการเงินก็ต้องปรับตัวเช่นกัน โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทในการเป็น facilitator และลดความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงช่วยให้ทุกภาคส่วน ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนที่กำลังจะมาถึง

ปัจจุบัน ธปท. กำลังเร่งวาง บทบาทอนาคตสถาบันการเงินไทย (future financial landscape) เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ผ่านการเพิ่มการแข่งขัน ขณะเดียวกันต้องช่วยผู้ให้บริการทางการเงินในการปรับตัว รวมทั้งสร้างความยืดหยุ่นให้ระบบการเงินสามารถรองรับ shock ได้ดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเห็นภาพชัดขึ้นในต้นปีหน้า

ภายใต้ landscape นี้ ธปท. จะปรับแนวทางการดูแลระบบการเงิน จากการเน้นเรื่อง stability มาให้น้ำหนักกับ resiliency โดยเน้นการรักษาสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมทางการเงินและการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อ การเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนและ SMEs ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ยังมีข้อด้อยที่ครัวเรือน 86% ยังมีหนี้กึ่งในระบบและนอกระบบ และกว่า 60% ของ SMEs ในไทย ยังไม่ใช้บริการสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน