“ไทยยูเนี่ยน” ติดดัชนีความยั่งยืน DJSI ต่อเนื่องปีที่ 8

HoonSmart.com>> “ไทยยูเนี่ยน” ติดดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ต่อเนื่องปีที่ 8 ดำเนินธุรกิจโดยใช้ความยั่งยืนเป้นหัวใจสำคัญ มุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลโดยรวม พร้อมคว้าอันดับ 2 ของโลกในกลุ่มดัชนีอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ได้รับคะแนนความยั่งยืนโดยรวมที่ 99 เปอร์เซ็นไทล์

บริษัท ไทยยูเนี่ยน (TU) ติดดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ต่อนื่องเป็นปีที่ 8 ได้การยอมรับในฐานะผู้นำธุรกิจอาหารทะเลระดับโลกที่ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในธุรกิจของบริษัทและอุตสาหกรรมในวงกว้าง

นอกจากนี้ยังได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 2 ของโลก ในดัชนีอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งมีการประเมินผลงานด้านความยั่งยืนของบริษัทต่างๆ ทั่วโลกหลายพันแห่ง โดยได้รับคะแนนความยั่งยืนโดยรวมที่ 99 เปอร์เซ็นไทล์

ในหัวข้อหลักเรื่องธรรมาภิบาล และเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ไทยยูเนี่ยนได้รับคะแนนที่ 99 เปอร์เซ็นไทล์ นอกจากนี้ยังได้รับคะแนนที่ 100 เปอร์เซ็นไทล์ในหัวข้อมิติทางสังคม

บริษัทยังได้รับคะแนนที่ 100 เปอร์เซ็นไทล์ใน 13 หัวข้อคือ 1)การสรุปประเด็นที่มีนัยสำคัญ 2)การบริหารจัดการความเสี่ยงและภาวะวิกฤต 3)การบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ 4)การโน้มน้าวด้านนโยบาย 5)การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน 6)การบริหารจัดการด้านนวัตกรรม 7)สุขภาพและโภชนาการ 8)การรายงานด้านสิ่งแวดล้อม 9)นโยบายและระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม 10)ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในเรื่องน้ำ 11)การรายงานด้านสังคม 12) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ 13) ความรับผิดชอบต่อสังคมและการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) กล่าวว่า การบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนต้องอาศัยการทุ่มเทในการทำงานบวกกับความมุ่งมั่น เพราะสำหรับธุรกิจระดับโลกและอุตสาหกรรมอาหารทะเลยังคงมีความท้าทายเข้ามาเรื่อยๆ จึงนับเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจสำหรับไทยยูเนี่ยนที่ได้รับการจัดอันดับในดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นไทยยูเนี่ยนมีการดำเนินธุรกิจโดยใช้ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ และมีงานอีกมากมายที่บริษัทยังต้องสานต่อ บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลโดยรวม

ไทยยูเนี่ยนติดดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 โดยได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของโลกในปี 2561 และ 2562 สำหรับในปีนี้นอกจากไทยยูเนี่ยนจะติดดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์เป็นปีที่ 8 แล้ว ยังได้รับการจัดอันดับจากดัชนี Seafood Stewardship Index (SSI) เป็นอันดับที่ 1 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่ง SSI ได้ประเมินบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดทั่วโลกทั้งหมด 30 บริษัท เพื่อเข้าใจว่าบริษัทเหล่านี้มีการทำงานด้านความยั่งยืนเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยองค์การสหประชาชาติมากน้อยเพียงใด

นายอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยนได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืนมาอย่างยาวนาน เราสร้างมาตรฐานการทำงานที่สูงขึ้น เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับอุตสาหกรรม ฝ่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัทยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง ริเริ่มโครงการใหม่ๆ ทั่วโลก เพื่อให้บริษัทยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ ครอบคลุมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนมีส่วนช่วยในการจัดการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งการทำงานด้านความยั่งยืนของบริษัททั้งหมดสอดคล้องไปกับเป้าหมายของไทยยูเนี่ยนในการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คน ควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้กับท้องทะเล

มาตรการด้านความยั่งยืนที่ไทยยูเนี่ยนได้เป็นผู้ริเริ่มและปฏิบัติได้แก่

– ประกาศเป้าหมายการจัดหาทูน่าอย่างยั่งยืน ปี 2568
– ประกาศรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรับสมัครงานทั้งหมด ให้กับแรงงานข้ามชาติในโรงงานในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
– นโยบายบรรจุภัณฑ์ทั่วโลก ที่ไทยยูเนี่ยนยังตั้งเป้าหมายภายในปี 2568 ในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ รีไซเคิลและย่อยสลายได้ ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์สำหรับผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบริษัท และ 30 เปอร์เซ็นต์สำหรับสินค้ารับจ้างผลิต
– นโยบายการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร
– พัฒนานโยบายด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมถึงตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศที่สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส
– นโยบายในการไม่ตัดไม้ทำลายป่า

สำหรับดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์นั้น ในแต่ละปี S&P Global Corporate Sustainability Assessment หรือ (CSA) จะทำการประเมินการทำงานด้านความยั่งยืนของบริษัทกว่า 8 พันแห่งทั่วโลก โดยมีเกณฑ์การประเมินในแต่ละอุตสาหกรรมและด้านการเงิน