TFM กำไรขาขึ้น ปีนี้รายได้ 5 พันลบ. บล.ฟินันเซียฯชี้เป้าราคา 17 บาท

HoonSmart.com>> หุ้น”ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์”บวก ไตรมาสที่ 3/64 กำไรเฉียด 70 ล้านบาท ดีเกินคาด ฟื้นเร็วจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 หลังปรับพอร์ตเน้นขายสินค้าที่มีมาร์จิ้นดี ปรับสูตรอาหารลดต้นทุน หนุน 9 เดือน กำไรสุทธิ 172.5 ล้านบาท ซีอีโอเร่งขยายธุรกิจ ผลักดันรายได้ปีนี้โตตามเป้า 5,000 ล้านบาท บล.ฟินันเซีย ไซรัสชมผลงานเด่น หนุนประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ที่ 225 ล้านบาท มีโอกาสแถมอีก 5-6% ปีหน้ากำไรพุ่งขึ้น 109.9%

วันที่ 5 พ.ย.2564 หุ้นบริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) ปรับตัวขึ้น ปิดที่ระดับ 14 บาท บวก 0.20 บาทหรือ 1.45% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 64.58 ล้านบาท หลังจากบริษัทประกาศผลงานไตรมาสที่ 3/2564 มีกำไรสุทธิ 69.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.32 ล้านบาท คิดเป็น 44.28% เทียบกับไตรมาสที่ 2/2564 ที่มีกำไรสุทธิ 48.15 ล้านบาท ถือว่าฟื้นตัวเร็วเกินคาดไม่ต้องรอจนถึงปี 2565 แต่ไตรมาส 3/2564 ยังต่ำกว่าไตรมาส 3/2563 ที่ทำกำไรสุทธิได้ถึง 137.74 ล้านบาท และรวม 9 เดือนปีนี้มีกำไรสุทธิ 172.05 ล้านบาท ลดลง 168.89 ล้านบาท คิดเป็น 49.54% จากที่มีกำไรสุทธิ 340.94 ล้านบาทในปีก่อน

นายบรรลือศักร โสรัจจกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) เปิดเผยว่า กำไรที่ลดลงในช่วง 9 เดือนปีนี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบหลักบางกลุ่มที่เพิ่มสูงกว่า 30-40% อย่างไรก็ตามรายได้รวม 3,726.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.5% มาจากปริมาณการขาย 52,350 ตัน เติบโต 18.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังคงเติบโตได้ดีสะท้อนศักยภาพการดำเนินธุรกิจในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำ และอาหารสัตว์เศรษฐกิจอย่างครบวงจรได้เป็นอย่างดี

ส่วนในไตรมาส 3/2564 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,356.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.8% มาจากปริมาณการขายอาหารกุ้ง อาหารปลา และอาหารสัตว์บกที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับสามารถรับรู้รายได้จากการผลิตและจำหน่ายอาหารปลาของบริษัท AMG-TFM ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในประเทศปากีสถาน ส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากการขายอาหารปลาในต่างประเทศเติบโตขึ้น นอกจากนี้ การปรับพอร์ตสินค้าที่หันมาเน้นขายกลุ่มสินค้า High Value เช่น อาหารสุกร และการบริหารจัดการด้านต้นทุนวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า

“ ในช่วงไตรมาสที่ 3 และรวม 9 เดือนปีนี้ บริษัทฯ ยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตที่ดีทั้งรายได้รวมและกำไรสุทธิ สะท้อนถึงความสามารถการดำเนินธุรกิจที่ดี เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกคน” นายบรรลือศักร กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TFM กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มในไตรมาส 4 แม้ว่าโดยธรรมชาติจะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจ เนื่องจากเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเกษตรกรมักจะลงลูกกุ้งและลูกปลาลดลง อาจทำให้ยอดขายอาหารสัตว์น้ำชะลอตัวบ้างเล็กน้อย แต่จากนโยบายการเปิดประเทศ คาดว่าจะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศกลับมาฟื้นตัว จะช่วยหนุนให้อุตสาหกรรมปศุสัตว์กลับมาฟื้นตัวและส่งผลดีต่อความต้องการอาหารสัตว์มากขึ้น ถือเป็นปัจจัยเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมและส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

บริษัทฯ ยังคงมุ่งขยายการเติบโตของธุรกิจ โดยเน้นให้ความสำคัญกับการเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น (มาร์จิ้น)และพัฒนาสินค้าให้มีอัตรากำไรอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการออกสินค้ากลุ่ม Fighting Brand เน้นทำการตลาดกับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ในขณะเดียวกันบริษัทฯอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ชนิดอื่นๆ และวางแผนสร้างอาหารสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ๆ เช่น อาหารปู ปลากดคัง ปลาชะโอน เป็นต้น บริษัทฯ จึงมั่นใจว่าผลการดำเนินงานทั้งปีจะสามารถเติบโตได้ตามแผน หรือมีรายได้รวมเฉียด 5,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 4,244.5 ล้านบาท

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ให้ราคาเป้่าหมายปี 2565ที่ 17 บาท หลังจากกำไรผ่านจุดต่ำสุดไตรมาสที่ 2  โดยรวม 9 เดือนปีนี้มีกำไรสุทธิ 172 ล้านบาท ลดลง 49.6% จากปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากผลกระทบของโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีแรกและต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับขึ้นทั้งกากถั่วเหลือง ปลาป่น และแป้งสาลี ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงเป็น 10.7% จากระดับปกติที่ 17.4% ส่วนแนวโน้มกำไรไตรมาสที่ 4 อาจทรงถึงฟื้นตัวได้ แม้ปกติเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของการเลี้ยงสัตว์ แต่ด้วยสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทำให้ความต้องการใช้อาหารสัตว์เริ่มฟื้นตัว ขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์โดยรวมยังทรงตัวใกล้เคียงไตรมาสก่อน

“กำไรรวม 9 เดือนปีนี้ คิดเป็นสัดส่วน 76% ของประมาณการทั้งปี ทำให้ประมาณการกำไรสุทธิของเราที่ 225 ล้านบาท ลดลง 45.4% จากปีที่ผ่านมา ดูมี Upside ราว 5-7% จากการฟื้นตัวของไตรมาสที่ 3/2564 ที่ดีกว่าคาด ไตรมาสที่ 4 อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น และแนวโน้มกำไรปี 2565 จะกลับมาฟื้นตัวโดดเด่นอีกครั้งราว 109.9% จากฐานต่ำในปี 2564 เนื่องจากความต้องการกุ้งส่งออกจากไทยกลับมาฟื้นตัว รวมถึงเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง คาดช่วยหนุนความต้องการใช้อาหารสัตว์ให้สูงขึ้น โดยเฉพาะกุ้ง ปลา และปลากะพง และแนวโน้มราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์น่าจะเริ่มผ่อนคลายเป็นลำดับ รวมถึงจะรับรู้รายได้การขายอาหารสัตว์น้าในปากีสถานได้เต็มปี จาก 9 เดือนปีนี้รับรู้มาแล้ว 138 ล้านบาท คิดเป็น 3.8% ของรายได้รวม และจะเริ่มรับรู้รายได้ในอินโดนีเซียได้ในปีหน้า “บล.ฟินันเซีย ไซรัสระบุ