สร้างแรงสั่นสะเทือนให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานหมุนเวียนอย่างหนัก เมื่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็นเวลา 5 ปี และจะซื้อไฟฟ้าเฉพาะโครงการที่ขายไฟฟ้าต่ำกว่าหรือเท่ากับราคาที่ขายส่งให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2.44 บาทต่อหน่วย
โดยเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2561 กระทรวงพลังงานรายงานมติกบง.ให้ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะรับทราบ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติ รวมถึงต้องปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2015) พ.ศ.2558-2579 ให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวภายในเดือนส.ค.2561
“โครงการที่จะขายไฟฟ้าที่ต้นทุนต่ำกว่า 2.44 บาทแล้วมีกำไร ตอนนี้มีแต่โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน แต่ตรงนั้นไม่สำคัญเท่ากับการสร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าของประเทศ” กรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการกฟผ.กล่าว
แม้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยเดินหน้านโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนต่อเนื่อง ส่งผลให้ล่าสุดภาครัฐมีสัญญาผูกพันรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากเอกชนสูงถึง 9,855 เมกะวัตต์ จากแผนพีดีพี 2015 ที่กำหนดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 16,778 เมกะวัตต์ภายในปี 2579
แต่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯมากกว่า 10 ราย ผันตัวไปลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศพร้อมกันไปด้วย โดยเฉพาะการลงทุนโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เวียดนาม เมียนมาร์ และฟิลิปปินส์ เป็นต้น ในขณะที่ผลกระทบจากนโยบายชะลอรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จะกระตุ้นให้เอกชนปรับแผนไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น
จอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก (SUPER) ซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้า 740 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ระบุว่า ปีนี้ บริษัทและพันธมิตรจากจีน จะเริ่มลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม 240 เมกะวัตต์ จากข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) พัฒนาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์
“เวียดนามมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และทราบว่าทางเวียดนามมีแผนจะรับซื้อไฟฟ้าโซล่าเซลล์ 2,000 เมกะวัตต์ และตรงนี้จะเป็นโอกาสของบริษัทที่จะร่วมมือกับพันธมิตรเข้าไปลงทุน ซึ่งการหาพันธมิตรเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ”จอมทรัพย์กล่าว
เช่นเดียวกับ โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ที่ระบุว่า บริษัทอยู่ระหว่างลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ เช่น โซลาร์เซลล์ในญี่ปุ่น 200 เมกะวัตต์ โซล่าร์เซลล์มาเลเซีย 30 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าก๊าซในพม่า โดยประเทศเหล่านี้ยังมีนโยบายสนับสนุนไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
ขณะที่บริษัทผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศเองก็ต้องปรับตัวอย่างหนัก เพื่อแข่งขันกับแผงโซลาร์เซลล์ราคาถูกที่จะทะลักจากจีน หลังสหรัฐขึ้นภาษีแผงโซลาร์เซลล์เป็น 30% พ่วงกับผลกระทบจากนโยบายชะลอรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
ปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน (SOLAR) ผู้ผลิตแผงโซล่าเซลล์ที่มีกำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ต่อปี และผู้ให้คำปรึกษาในการติดตั้งระบบไฟฟ้าโซล่าร์เซล์ กล่าวกับ “HoonSmart.com” ว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้พยายามปรับตัวทุกทางเพื่อให้แข่งขันได้ จากปีที่แล้วที่บริษัทยอมขายแผงโซลาร์เซล์ในราคาถูกไปยังอินเดีย
โดยเฉพาะ 2-3 ปีมานี้ SOLAR มุ่งเน้นเข้าสู่ธุรกิจที่ปรึกษา ออกแบบ และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ โดยได้เข้าไปติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต 10 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทจะมีรายได้จากส่วนแบ่งค่าไฟฟ้าภายใต้สัญญาขายไฟฟ้า 25 ปี และบริษัทมีแผนขยายโครงการไปยังมหาวิทยาลัยและหมู่บ้านจัดสรรทั่วประเทศ
“ค่าไฟฟ้าตอนพีค (On Peak) ราคาจะสูงถึง 4.58-5.26 บาทต่อหน่วย เราจะเสนอตัวเข้าติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาให้เอกชนที่สนใจ เพื่อลดค่าไฟฟ้าในช่วง On Peak โดยค่าไฟฟ้าที่ขายจะมีราคา 4 บาทต่อหน่วย โดยเราจะลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ให้ทั้งหมด และจะมีรายได้จากส่วนแบ่งค่าไฟฟ้าตามสัญญาระยะยาว”ปัทมากล่าว
นอกจากนี้ บริษัทได้จดสิทธิบัตรในการผลิตแผงโซลาร์เซลที่ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ หรือ Floating Solar Farm ซึ่งเป็นแผงที่ต้องมีลักษณะเฉพาะ และตรงนี้จะทำให้บริษัทสามารถขยายตลาดไปได้อีกมาก
แต่ทว่าการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะมีการแข่งขันที่สูงแล้ว ยังต้องเผขิญกับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายของรัฐบาลประเทศนั้นๆด้วย
ล่าสุดบริษัท ทีทีซีแอล (TTCL) ที่ได้สัมปทานลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1,280 เมกะวัตต์ เมืองพะ-อัน รัฐคะฉิ่น เมียนมาร์ เมื่อปี 2558 แต่เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา รมว.พลังงานและไฟฟ้าแห่งเมียนมาร์ แถลงว่า จะไม่อนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้ เพราะถูกต่อต้านจาก 172 องค์กรในพื้นที่ ซึ่ง TTCL ออกมาชี้แจงว่าอยู่ระหว่างรอคำตอบจากหน่วยงานของเมียนมาร์
หรือกรณีรัฐบาลเมียนมาร์สั่งชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ “Biliran” ที่เมืองมินบู 220 เมกะวัตต์ ของบริษัท วินเทจ วิศวกรรม (VTE) บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF)และ บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) เนื่องจากหน่วยงานผู้ซื้อไฟฟ้าของเมียนมาร์ ได้ปรับเปลี่ยนแบบก่อสร้าง (Construction Design) คาดว่าจะก่อสร้างอีกครั้้งเมื่อปรับแบบแล้วเสร็จ
ส่วนการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นประกาศรับซื้อ 5 หมื่นเมกะวัตต์นั้น แม้ว่าจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า แต่เมื่อปีที่แล้วญี่ปุ่นได้ลดอัตรารับซื้อไฟฟ้าโซล่าเซลล์เหลือ 8 บาทต่อหน่วย จากเดิม 16 บาทต่อหน่วย และปีนี้ญี่ปุ่นจะลดอัตรารับซื้อไฟฟ้าลงอีก ทำให้เอกชนที่ร่วมลงทุนหรือซื้อใบอนุญาตโซล่าร์เซลล์ในญี่ปุ่นมาดำเนินการ จะมีกำไรน้อยลง
“บริษัทกำลังติดตามอยู่ว่าการลงทุนจะคุ้มค่าหรือไม่ แต่อัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นรับซื้อตอนนี้ ยังถือว่าคุ้มค่าอยู่ เพราะแม้ว่าค่าไฟฟ้าตอนนี้จะลงมาอยู่ที่ 20-30 เยนต่อหน่วย หรือ 6-8 บาทต่อหน่วย แต่ยังได้ผลตอบแทนที่ดี อีกทั้งที่ผ่านมาต้นทุนการลงทุนไฟฟ้าโซลาร์เซล์ก็ลดลงมาก” อนาวิล จิรธรรมศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ (CHOW) กล่าว
อนาวิล กล่าวว่า ตอนนี้บริษัทยังโฟกัสการลงทุนไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในญี่ปุ่น เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นชัดเจน ทำให้การลงทุนไม่เสี่ยง ส่วนการลงทุนในประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษา
เมื่อถามถึงอนาคตของบริษัทผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ค่อยสดใสนัก จากความต้องการรับซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐที่หายไปหลายพันเมกะวัตต์
เกียรติศักดิ์ เจนวิภากุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย SCBS ให้ความเห็นกับ “HoonSmart.com” ว่า แม้ว่าบริษัทในกลุ่มพลังงานหมุนเวียนจะได้รับผลกระทบจากนโยบายชะลอรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน แต่บริษัทยังมีรายได้และมีกำไรจากการขายไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่มีอยู่เดิม และปัจจุบันหลายๆบริษัทก็ไปแสวงหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ
“หากบริษัทไม่มีกำลังการผลิตใหม่เพิ่ม ก็ยังมีรายได้จากสัญญาเดิมอยู่ จึงเป็นหุ้นที่ซื้อได้ เพราะมีรายได้ มีกำไร มีเงินปันผลให้นักลงทุน แต่พี/อีที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 10-15 เท่า ไม่ใช่มีพี/อีสูงๆเหมือนที่ผ่านมา และทาง SCBS ได้ประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นกลุ่มนี้ โดยใช้สัญญา PPA ที่บริษัทมีอยู่แล้วมาคำนวณ ไม่ใช่โครงการที่ยังไม่มีในมือ”เกียรติศักดิ์กล่าว