ราคาทองฟิวเจอร์เพิ่มขึ้นรับหยวนแข็งค่า และเฟดไม่รีบขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนราคาขายในประเทศ 27 ส.ค. ปรับขึ้นแค่ 50 บาท เจอเงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 2 เดือน หลุด 32.50 บาทกดดัน
ราคาทองฟิวเจอร์ปรับตัวขึ้นในวันนี้ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเงินหยวนแข็งค่าหลังจากธนาคารกลางจีนปรับวิธีการคำนวณค่ากลางของหยวนต่อดอลลาร์
ณ เวลา 22.40 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเลกทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 2.90 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 0.24% ซื้อขายที่ระดับ 1,216.20 ดอลลาร์/ออนซ์ จากก่อนหน้า เพิ่มขึ้น 4.90 ดอลลาร์/ออนซ์
ปัจจัยที่สนับสนุนให้นักลงทุนกลับมาสนใจลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์ เกิดจาก นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารสหรัฐ(เฟด) ได้แสดงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ พร้อมยืนยันว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากการแข็งค่าของหยวนวันที่ 27 ส.ค. หลังจากที่ธนาคารกลางจีนส่งสัญญาณว่า ทางธนาคารกลางกำลังใช้มาตรการเพื่อหนุนค่าเงินหยวน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นมาตรการที่จะช่วยผ่อนคลายความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐ
“การแข็งค่าของเงินหยวน จะเพิ่มความน่าดึงดูดของทอง ทำให้สัญญาทองในสกุลดอลลาร์มีราคาถูกลง”
ธนาคารกลางจีนระบุว่า นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนส.ค. ธนาคารกลางได้เริ่มปรับวิธีการคำนวณค่ากลางหยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งจะ”ป้องกันปัจจัยผันผวนตามวัฏจักรเศรษฐกิจ” (counter-cyclical factor) โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดการอ่อนค่าของสกุลเงินหยวน และทำให้ค่าเงินหยวนมีเสถียรภาพ
ทางด้านบริษัทวายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์สแนะกลยุทธ์ว่า ราคาทองคำยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางค่อยๆขยับขึ้นในระยะสั้น แต่ที่ผ่านมาขึ้นมาค่อนข้างมากอาจมีแรงขายทำกำไรสลับออกมา สำหรับนักลงทุนที่มีทองคำในมือ แนะนำให้แบ่งขายทำกำไรเพียงบางส่วน หากราคาดีดตัวขึ้นและไม่ผ่านแนวต้าน 1,217 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และเข้าซื้ออีกครั้งหากราคาย่อตัวลงมาไม่หลุดบริเวณแนวรับ 1,194-1,182 ดอลลาร์ต่อออนซ์
“หากแรงขายไม่มากราคาทองคำที่อ่อนตัวลงเป็นเพียงช่วงปรับฐาน เพื่อสะสมแรงซื้อ สามารถลงทุนระยะสั้นโดยรอจังหวะเปิดสถานะซื้อเมื่อราคาย่อตัวลงมาบริเวณแนวรับ และขายทำกำไรเมื่อราคาดีดตัวขึ้นไปบริเวณแนวต้าน”วายแอลจีระบุ
สำหรับราคาขายในประเทศ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเพียงบาทละ 50 บาทได้รับแรงกดดันจากค่าเงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือน หลังเงินหยวนและสกุลเงินภูมิภาคในภาพรวมขยับแข็งค่าขึ้น