FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่น 3 เดือนพุ่งนิวไฮ หนุนหุ้นปีนี้ทะลุ 1,650 จุด

HoonSmart.com>> “สภาธุรกิจตลาดทุนไทย” เปิดสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับขึ้น 18.2% อยู่ที่ 168.69 ทำสถิติสูงสุด หลังเริ่มเปิดประเทศ ภาคการท่องเที่ยวฟื้น นักลงทุนชอบกลุ่มท่องเที่ยว-ไม่ชอบประกันภัย ลุ้นดัชนีปี 64 เกินเป้า 1,650 จุด คาดเงินไหลเข้าบ้างหลังผลประชุมเฟดเริ่มลดคิวอี ออกมาตามคาด   เป้าปี 65 ถึง 1,800 จุด “สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” คาดประชุม กนง.เดือน พ.ย.นี้ ยังคงดอกเบี้ยที่ 0.5% มั่นใจเป้าออกหุ้นกู้ปีนี้ เกิน 1 ล้านล้านบาท

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนต.ค. 2564 พบว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ม.ค.2565) อยู่ที่ระดับ 168.69 สูงสุด ตั้งแต่เริ่มทำการจัดทำดัชนี โดยเพิ่มขึ้น 18.2% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” หรือ “Very Bullish” เนื่องจากทุกกลุ่มนักลงทุน เชื่อมั่นว่าจะมีการฟื้นตัวขึ้น หลังจากเริ่มเปิดประเทศ

สำหรับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือนักลงทุนคาดหวังการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว  รองลงมาคือแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ  ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่หลังเปิดประเทศ รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจ  และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยให้หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการเป็นธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด และหมวดประกันภัยและประกันชีวิตไม่น่าสนใจที่สุด เนื่องจากกังวลเรื่องการขอเงินประกันของผู้ติดเชื้อโควิด-19

แนวโน้มตลาดหุ้นในช่วงที่เหลือของปี 2564 ยังเคลื่อนไหวอยู่บริเวณ 1,650 จุด แต่ถ้าบรรยากาศการลงทุนดีมากๆ ก็อาจจะปรับขึ้นได้ ส่วนผลประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่เริ่มลดวงเงิน QE ก็มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยค่อนข้างน้อย ปัจจัยสำคัญคือยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากที่เฟดมองว่าในปี 2565 เงินเฟ้อจะกลับลงมาสู่ระดับที่ต่ำลง

ส่วนทิศทางของ Fund Flow ต่างประเทศ อาจจะมีเข้ามาบ้าง ถึงแม้จะไม่มีปัจจัยที่ชี้วัดได้แน่นอน แต่คาดว่าเม็ดเงินจะเริ่มทยอยเข้าตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เนื่องจากมีการฟื้นตัวที่ชัดเจน ถึงแม้ของประเทศไทยตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้ยังมีไม่มาก แต่ในปี 2565 ก็คาดว่าจะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น และทางด้านภาครัฐก็น่าจะมีการออกมาตรการเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกมาก รวมถึงการควบคุมดูแลการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นปัจจัยบวกที่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ มองเป้าดัชนีปี 2565 ที่ประมาณ 1,800 จุด

ทั้งนี้ในช่วงเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ดัชนี SET Index ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยได้ผลกระทบในเชิงบวกจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ การออกมาตรการท่องเที่ยวทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 และทัวร์เที่ยวไทย รวมถึงแผนการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศของภาครัฐ โดยหุ้นที่อยู่ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเศรษฐกิจปรับตัวสูงขึ้นกว่ากลุ่มอื่น

ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีมูลค่าซื้อสุทธิกว่า 15,773.15 ล้านบาทในเดือนต.ค. ในขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ครอบคลุมกว่า 70% ของจำนวนประชากรสำหรับเข็มแรก และเกือบ 50% สำหรับเข็มสอง โดยดัชนี SET index ณ สิ้นเดือนต.ค.ปิดที่ 1,623.43 จุด เพิ่มขึ้น 1.1% จากเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตามปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ วิกฤติพลังงานโลกซึ่งราคาพลังงานทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ปรับตัวสูงขึ้นมาก การเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวจากการขาดแคลนพลังงานในประเทศ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีน ทั้งประเด็นการค้า และประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและไต้หวัน รวมถึง ความกังวลต่อโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ (Stagflation) ซึ่งจะส่งผลต่อความผันผวนของตลาดหุ้นจากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าระดับปกติมากในหลายประเทศ

ส่วนปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/2564 ความเสี่ยงจากการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัวสำหรับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำที่เริ่มในเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งจะต้องมีการติดตามและเฝ้าระวังจากภาครัฐอย่างเคร่งครัด อีกทั้งสถานการณ์น้ำท่วมที่ยังยืดเยื้อ และราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

นายไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ตลาดเตรียมนำเกณฑ์เข้ามาควบคุมหุ้นที่มีการเคลื่อนไหวในด้านราคาที่ร้อนแรง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ถ้าทำได้จะเป็นการเพิ่มเสถียรให้กับราคาหุ้นที่แท้จริง และกับตลาดหุ้นไทยเองด้วย ส่วนประเด็นการที่ธนาคารเริ่มรุกธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ก็เป็นการปรับเปลี่ยนตามกระแสที่เปลี่ยนไป ซึ่งในหลายๆบริษัทหลักทรัพย์ก็คงเตรียมการไว้อยู่แล้ว หรือหลายบริษัทจดทะเบียนเองก็คงมีแผนที่คิดไว้อยู่แล้ว

ด้านน.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผย ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยเดือนพ.ย. 2564 อยู่ที่ระดับ 50 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากครั้งที่แล้วและยังอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง” ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เนื่องจาก ธปท. ได้ กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และธุรกิจต่างๆเช่น สินเชื่อฟื้นฟู และพักทรัพย์พักหนี้ ความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงลดลง อย่างไรก็ตาม ต้องคอยจับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังเปิดเมือง หากสถานการณ์โควิด-19 กลับมาแย่ลงและเศรษฐกิจฟื้นตัวน้อยกว่าคาด ธปท. อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้อีก

ส่วนดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 และ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 4 อยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง ” มองว่าอยู่ที่ระดับ 1.24% และ 1.94% ตามลำดับ เนื่องจากอุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหนี้ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก รวมถึง เศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก

นอกจากนี้ยอดการออกหุ้นกู้ในเดือน พ.ย.คาดว่าจะมีการออกเกิน 100,000 ล้านบาท เหมือนกับเดือน พ.ค. , มิ.ย. ส.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากมียอดหุ้นกู้ที่ครบกำหนดอายุ (Roll Over) อีกประมาณ 110,000-130,000 ล้านบาท คาดว่ายอดการออกหุ้นกู้ในช่วงที่เหลือของปี 2564 จะไม่ต่ำกว่า 140,000 ล้านบาท ทำให้ปี 2564 ยอดการออกหุ้นกู้รวมจะเกิน 1,000,000 ล้านบาท จาก 10 เดือนที่ผ่านมายอดการออกหุ้นกู้อยู่ที่ 896,000 ล้านบาท