ADVANC กำไร 6.37 พันล้านบ. Q3/64 รวม 9 เดือนโตเข้าเป้าทั้งปี

HoonSmart.com>>”แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส”เปิดกำไรสุทธิ 6,374 ล้านบาท ไตรมาส 3/64 ลดลงจากรายการพิเศษ กำไรปกติเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.9% EBITDA เท่ากับ 22,888 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% รวม 9 เดือนโต 2% เข้าเป้าคาดการณ์ทั้งปี บริษัทยังคงเดินหน้าลงทุน 25,000-30,000 ล้านบาทนำศักยภาพเทคโนโลยีโครงข่าย 5G เข้าสนับสนุนการเติบโตภาคส่วนต่างๆ ของประเทศ นักวิเคราะห์เชียรซื้อหุ้น  บล.หยวนต้าให้มูลค่าเหมาะสมปีหน้าที่ 222 บาท บล.บัวหลวงให้เป้า 235 บาท หลังผ่านจุดต่ำสุด มองแนวโน้มกำไรโตระยะยาว 

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เปิดเผยผลประกอบการงวดไตรมาสที่ 3/2564 มีกำไรสุทธิ 6,374 ล้านบาท ลดลง -2.13% จากช่วงเดียวกันปีก่อนและลดลง -9.47% เทียบกับไตรมาสที่ 2/64 โดยรวม 9 เดือนปีนี้ มีกำไรสุทธิ 20,059 ล้านบาท ลดลง-1.04% จากที่มีกำไรสุทธิ 20,270 ล้านบาทในระยะเดียวกันปีก่อน

กำไรที่ลดลงมีสาเหตุหลักมาจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่รับรู้และการเพิ่มขึ้นของค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ขณะที่ไตรมาส 2 มีรายการพิเศษ หากไม่รวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและรายการพิเศษ (หลังหักภาษี) กำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติจะเพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

สมชัย เลิศสุทธิวงค์

บริษัทมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA)  เท่ากับ 22,888 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% เทียบกับปีก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการหลักควบคู่กับการบริหารต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ลดลง-0.5% เทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากต้นทุนการให้บริการที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงข่าย 5G

ในไตรมาส 3/2564 แม้ว่าช่องทางจัดจำหน่ายจะปิดเป็นเวลาสองเดือน (ก.ค.-ส.ค.) เนื่องจากมาตรการการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นเป็น 43.7 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสุทธิ 424,200 เลขหมาย ฐานลูกค้าระบบเติมเงินยังคงเพิ่มขึ้นสุทธิ 134,400 เลขหมาย ด้านฐานลูกค้าระบบรายเดือนเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเพิ่มขึ้นสุทธิ 289,800 เลขหมาย มีสาเหตุหลักจากการย้ายบริการจากระบบเติมเงินไปยังรายเดือน เนื่องจากการรับรู้ของลูกค้าที่ดีเกี่ยวกับบริการ 5G  ภาพรวมระดับ ARPU เฉลี่ยอยู่ที่223 บาท/เลขหมาย/เดือน ลดลง  5.9% จากปีก่อน และ 0.6% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่อ่อนตัว

ขณะเดียวกันเอไอเอส ไฟเบอร์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นสุทธิ 133,000 ราย  ความต้องการอินเทอร์เน็ตบ้านที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดได้ผลักดันการเติบโตสู่ 1,668,900 ราย ซึ่งเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่จำนวน 1.6 ล้านรายภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงส่งผลให้ ARPU ลดลง 5.9% จากปีก่อนและ -0.5% จากไตรมาสก่อน

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กล่าวว่า การทำงานของ ADVANC  ตลอดทั้ง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการนำศักยภาพขององค์กรทั้งโครงข่ายเทคโนโลยีและบริการด้านดิจิทัลในการวางโครงสร้างพื้นฐานให้มีความครอบคลุมและพร้อมให้บริการมากที่สุด เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกับภาคส่วนต่างๆ ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและใช้งานได้จริง ทำให้วันนี้ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต หรือแม้แต่ภาคธุรกิจ สามารถใช้เครื่องมือด้านดิจิทัลมาเสริมความได้เปรียบทางการแข่งขันได้อย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น จนเกิดการขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับฐานรากไปจนถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ

“เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เราพยายามสร้างการเชื่อมต่อกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยในทุกมิติ โดยในไตรมาสที่ผ่านมา ได้บรรลุข้อตกลงและลงนามในสัญญาร่วมทุนกับธนาคารไทยพาณิชย์ ในการจัดตั้งบริษัทในชื่อ “เอไอเอสซีบี” (AISCB) เพื่อให้บริการด้านการเงินดิจิทัล เช่น บริการด้านสินเชื่อ และบริการทางการเงิน ที่ยังมีโอกาสและศักยภาพการเติบโตอีกมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้นำด้านบริการดิจิทัลที่หลากหลายไร้ขีดจำกัด”นายสมชัยกล่าว

บริษัทเชื่อว่าโครงข่าย 5G ยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อีกมหาศาล สิ่งที่ตั้งใจทำมาโดยตลอดหลังจากที่ได้เปิดตัวการให้บริการ AIS 5G คือการนำประสบการณ์ใช้งานที่เหนือกว่ามาให้คนไทยได้สัมผัสภายใต้เป้าหมายการเป็นผู้นำด้าน Digital Life Service Provider จนถึงวันนี้ยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องตามแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาศักยภาพของ 5G ให้ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าทุกกลุ่ม เพื่อให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่แข็งแรง กลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมดิจิทัลที่พร้อมแข่งขันในเวทีโลก สามารถใช้เป็นจุดแข็งของประเทศในการดึงดูดนักลงทุนสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน พร้อมรับโอกาสใหม่ๆ หลังเปิดประเทศ

ส่วนผลประกอบการใน 9 เดือน/2564 ยังคงสอดคล้องกับคาดการณ์ทั้งปี โดยมีรายได้จากการให้บริการหลักทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน  และมี EBITDA เพิ่มขึ้น +2%จากปีที่แล้ว บริษัทยังคงคาดการณ์และมุมมองสำหรับปี 2564 เนื่องจากการเติบโตการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่เริ่มฟื้นตัวจากการกลับมาเปิดร้านตั้งแต่เดือนก.ย. และการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองต่างๆ บริษัทยังคงนโยบายลงทุนโครงข่ายในงบประมาณ 25,000-30,000 ล้านบาทสำหรับปีนี้ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำทั้งในด้านคุณภาพของโครงข่ายและและสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้า

บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) คาด ADVANC มีกำไรปกติไตรมาสที่ 3 /2564 อยู่ที่ 6,530 ล้านบาท ลดลง -3.9% จากไตรมาส 2 ที่ 6,798 ล้านบาท และลดลง -2.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 6,694 ล้านบาท เนื่องจากการลดต้นทุน เป็นปัจจัยหลักที่ประคองผลการดำเนินงานในภาวะที่รายได้ยังอ่อนแอ

“หากกำไรปกติออกมาตามคาด รวม 9 เดือนคิดเป็น 72% ของประมาณการทั้งปี 2564 ที่ 27,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ไตรมาส 4 จะฟื้นตัวจากไตรมาสที่ 3 ตามการทยอยเปิดเมือง ทำให้คงประมาณการทั้งปี 2564 และคงคำแนะนำ”ซื้อ” ปรับไปใช้ราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2565 ที่ 222 บาท และให้เงินปันผลคาดหวังที่ 4.5% สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 4.0%

บล.บัวหลวงคาดรายได้บริการยังคงเติบโตได้เล็กน้อย แม้โควิดระลอกสามได้ระบาดยืดเยื้อ คาดว่ากำไรหลักน่าจะเป็นไตรมาสที่ต่ำสุดของปีนี้ ก่อนฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 หนุนโดยการคลายล็อกดาวน์ และการบริโภคปรับตัวดีขึ้น

” เราปรับไปใช้ราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี2565 ที่ 235 บาท และ ADVANC ยังคงเป็นหุ้นที่เราชื่นชอบมากที่สุดในกลุ่ม ICT จากเหตุผลกำไรหลักที่จะกลับมาฟื้นตัวในปี 2565 และมูลค่าหุ้นยังถูก โดยอัตราส่วน EV/EBITDA อู่ที่ 7.65 เท่าเทียบกับจุดสูงสุดในเดือนส.ค.2562 ที่ 9.1 เท่า “บล.บัวหลวงระบุ

ส่วนธุรกิจสินเชื่อดิจิทัลที่ร่วมทุนกับธนาคารไทยพาณิชย์จะมีส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นในระยะยาว เมื่อใช้สมมุติฐานของพอร์ตสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 5,000 ล้านบาทในปี 2565 เพิ่มเป็น 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2566 คาดว่าจะพลิกกลับเป็นกำไร 644 ล้านบาท จากขาดทุนเล็กน้อย ทำให้ ADVANC ได้รับส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วน 50% เท่ากับ 322 ล้านบาท คิดเป็ร 1.2% ของกำไรรวม แม้ว่ายังคงน้อยอยู่ในช่วง2-3 ปีแรก แต่คาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ กล่าวว่า การเริ่มต้นประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/2564 ของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว ถือว่าไม่ค่อยดีนัก แม้งบธนาคารส่วนใหญ่ดีกว่าคาดก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ต่ำกว่าคาดเกือบทั้งหมด เช่น DTAC ต่ำกว่าตลาดคาด 14%, HMPRO ต่ำกว่าตลาดคาด 15%, SCGP ต่ำกว่าตลาดคาด 11%, DELTA ต่ำกว่าตลาดคาด 23%, SCC ต่ำกว่าตลาดคาด 29% และ PTTEP ต่ำกว่าตลาดคาด 13%

นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนมากขึ้นในช่วงการทยอยประกาศงบจนถึงกลางเดือนพ.ย.นี้ แต่หลังจากนั้น เชื่อว่านักลงทุนจะกล้ามองไปข้างหน้าว่าผลประกอบการผ่านจุดต่ำแล้ว และกำลังมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น โดยบล.ทิสโก้คาดกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของตลาดในปี 2565 จะอยู่ที่ 95.3 บาทต่อหุ้น เติบโต 19% ต่อเนื่องจากปี 2564 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 80 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากปี 2563 ที่ทำได้เพียง 40 บาทต่อหุ้น

แนวโน้มตลาดในเวลาที่เหลือของปีนี้ ดัชนีมีโอกาสไต่ขึ้นทะลุระดับ 1,650 จุด ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของปีนี้ที่ทำไว้เมื่อต้นเดือนก.ย. จากการคลายล็อกดาวน์ รวมถึงฤดูกาลเม็ดเงินจากกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เริ่มไหลเข้าในเดือนพ.ย.-ธ.ค.ของทุกปี ซึ่งจะช่วยเติมเต็มเม็ดเงินต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทย 3 เดือนติดต่อกันแล้ว ปีนี้คาดว่าจะมีเงินไหลเข้าประมาณ 2 หมื่นล้านบาทสำหรับกองทุน SSF และประมาณ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาทสำหรับกองทุน RMF

อย่างไรก็ตาม ต้องระวังความผันผวนของตลาดในช่วงต้นปีหน้าจากเม็ดเงินกองทุน LTF ที่ครบกำหนดถือครอง 7 ปีปฏิทินจะสามารถขายออกได้เป็นปีแรก ซึ่งบล.ทิสโก้ประเมินว่าจะมีมูลค่าในปัจจุบันประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท และการแกว่งขึ้นของดัชนีรอบนี้อาจขลุกขลักบ้าง เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จนอาจทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งในต่างประเทศต้องปรับนโยบายการเงินเข้มงวด (Hawkish) เร็วขึ้น  ตลาดกำลังประเมินว่าเฟดอาจเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นกว่าปี 2566