“ทิสโก้” ฟันธง Stagflation โอกาสเกิดน้อย คาดศก.โลกฟื้น-เงินเฟ้อพุ่งชั่วคราว

HoonSmart.com>> ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ลงทุนทิสโก้ ชี้โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญภาวะ ‘Stagflation’ เงินเฟ้อสูงเศรษฐกิจชะลอ เป็นไปได้น้อย คาดเศรษฐกิจโลกยังโตต่อ และเงินเฟ้อพุ่งแค่ชั่วคราวจากแรงหนุนเปิดเมือง แต่ยังแนะนำให้จับตา เพราะหากเกิดขึ้นจริงหุ้นสหรัฐฯ และทั่วโลกอาจร่วง 30%

คมศร ประกอบผล

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมานักลงทุนเริ่มกังวลถึงภาวะ Stagflation ซึ่งเป็นภาวะที่เงินเฟ้อสูง แต่เศรษฐกิจชะลอตัว โดยเกรงว่าตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะภาวะสินค้าขาดแคลนจาก Supply Chain Disruptions จะทำให้ทั่วโลกเจอเหตุการณ์ซ้ำรอยปี 2554 – 2555 ที่เกิดภาวะ Stagflation กดดันให้ธนาคารกลางสำคัญต่างๆ ต้องถอนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ฉุดดัชนี S&P 500 ร่วงรับข่าวถึงประมาณ 20%

อย่างไรก็ตาม สำหรับในปีนี้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนทิสโก้ (TISCO ESU) มองว่า โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation นั้นยังค่อนข้างน้อย ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปี และทรงตัวในระดับสูงกว่า 5% ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แต่ TISCO ESU มองว่า เงินเฟ้อในปัจจุบันเกิดจากปัจจัยชั่วคราว และจะทยอยลดลงในช่วงปลายปีนี้ อีกทั้ง เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแต่ละสินค้า พบว่าในช่วงต้นปีอัตราเงินเฟ้อถูกผลักดันให้เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการเปิดเศรษฐกิจเป็นหลัก ได้แก่ ราคารถมือสอง ค่าเช่ารถ ค่าโดยสารเครื่องบิน และค่าที่พักโรงแรม ซึ่งราคาในกลุ่มดังกล่าวเริ่มปรับลดลงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจัยที่ผลักดันให้เงินเฟ้อสูงเกิดจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นหลัก

นอกจากนี้ ข้อมูลในอดีตชี้ว่า การส่งผ่านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นไปยังราคาสินค้าอื่นๆ เป็นไปได้อย่างจำกัด เช่น ในช่วง Commodity Supercycle ระหว่างปี 2544 – 2551 ที่ดัชนีราคาผู้ผลิตกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (PPI Commodity) เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.6% ต่อปี ต่อเนื่องถึง 7 ปี แต่ในช่วงเดียวกันดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) กลับเพิ่มขึ้นเพียง 3.3% ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เฉลี่ยอยู่ที่ 2.1% ใกล้เคียงกับเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ

อีกทั้ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะยังขยายตัวในอัตราที่สูงต่อเนื่องในปี 2565 โดยคาดว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 4.9% ส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สหรัฐฯ คาดว่าจะโตถึง 5.2% สูงกว่าอัตราปกติในช่วงก่อนการระบาดที่ขยายตัวราว 2-3% ต่อปี ถึงแม้ IMF จะประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะยังอยู่ในระดับสูง แต่เศรษฐกิจก็จะขยายตัวในอัตราที่สูงต่อเนื่อง ทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation มีจำกัด

นายคมศร กล่าวอีกว่า แม้ยังมองว่า โอกาสเกิด Stagflation มีจำกัด แต่พัฒนาการเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง หากเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเริ่มมีสัญญาณการส่งผ่านของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ไปยังสินค้าอื่นๆ และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเริ่มกดดันการบริโภค จนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Stagflation ก็อาจมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญที่นักลงทุนควรจับตามองต่อไป

กรณีที่เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะ Stagflation จริง TISCO ESU ประเมินว่า ตลาดหุ้น S&P 500 มีโอกาสปรับตัวลงถึง 30% จากปัจจุบัน โดยการประเมินดังกล่าวมาจากการสมมติให้ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของตลาดหุ้นกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือ Earning Yield Gap (EYG) เพิ่มขึ้นไปอยู่ 5 – 6% เช่นเดียวกับไปช่วงปี 2554 – 2555 และให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) เพิ่มเป็น 2.5 – 3% เพื่อสะท้อนแนวโน้มดอกเบี้ยที่สูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ตามสมมติฐานดังกล่าว ดัชนี S&P 500 จะลงไปเทรดที่อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) ประมาณ 13 – 14 เท่า หรือต่ำกว่าระดับปัจจุบันที่ 19 – 20 เท่า ทำให้มีโอกาสที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และทั่วโลกมีโอกาสปรับตัวลงถึง 30%